วันที่ 23-25 กรกฎาคม 2567 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง สำรวจสถานภาพทรัพยากรปะการัง โดยวิธี Line-Intercept Transect บริเวณเกาะรำร่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สภาพทั่วไป น้ำลึก 1-2 เมตร อุณหภูมิน้ำ 30 องศาเซลเซียส ปะการังชนิดเด่น ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังสมองร่องสั้น (Platygyra sp.) ปะการังวงแหวน (Dipsastraea sp.) ตัวอ่อนปะการังที่พบ ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora spp.) ปะการังวงแหวน (Dipsastraea sp.) ปลาที่พบในแนวปะการัง เช่น ปลาอมไข่ลายหางจุด (Apogon cookii) ปลาสลิดหินเทาหางพริ้ว (Neopomacentrus filamentosus) ปลาสลิดหินเกล็ดวาว (Neopomacentrus anabatoides) ส่วนโรคและอาการที่พบในปะการัง ได้แก่ การชอนไชของเพรียง หอยเจาะปะการัง จุดชมพูบนปะการังโขด และการฟอกขาวบางส่วน สัตว์ในแนวปะการังที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ เม่นดำหนามยาว (Diadema setosum) ทากเปลือยโจรันนา (Jorunna funebris) จากการสำรวจพบว่า ปะการังมีการฟอกขาว 5% ปะการังปกติ 80% สีซีดจาง 5% ตายจากการฟอกขาว 10% ทั้งนี้ปะการังเริ่มฟื้นตัวจากการฟอกขาวเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลลดลง พบขยะตกค้างในแนวปะการังส่วนใหญ่จากกิจกรรมทางการประมง เช่น เศษอวน เชือก และได้ทำการเก็บเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามไม่พบปลาหมอคางดำในแนวปะการัง