วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 จากเพจทันข่าวทันคนโพสต์ว่า นายธีรยุทธ เจียรนัย ชาวประมงเรือลอบหมึกสาย หมู่ 1 ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เปิดเผยพบหมึก ซึ่งมีจุดวงน้ำเงิน 1 ตัว บริเวณดอนหอยนอกเกาะสังข์ หน้าอ่าวบางเบิด จึงได้เก็บใส่ขวดน้ำ และส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าเป็นหมึกชนิดใด วันที่ พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากกรณีที่ชาวประมงจับหมึกสายวงน้ำเงินได้ที่จังหวัดชุมพร ดูจากภาพลักษณะแล้วหมึกชนิดนี้ มีพิษร้ายแรงยิ่งตอนป้องกันตัว สีของวงจะเห็นชัดมาก โดยหมึกทะเลชนิดนี้ เป็นจำพวกหมึกสายขนาดเล็ก มีพิษ ต้องระวังไว้ให้มาก มีพิษร้ายแรงกว่างูเห่า 20 เท่า ผู้ถูกกัดอาจจะตายภายใน 2 - 3 นาที
หมึกสายวงน้ำเงินหรือหมึกบลูริง (Blue-ringed octopus) เป็นหมึกยักษ์จำพวกหนึ่งแต่มีขนาดเล็ก ตัวเต็มวัยมีขนาดลำตัว ประมาณ 4 - 5 เซนติเมตร มี 8 หนวด แต่ละหนวดยาวประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร หมึกสายวงน้ำเงินมีจุดเด่นที่ต่างจากหมึก ทั่วไปตรงที่มีลวดลายเป็นวงแหวนสีน้ำเงิน กระจายตามลำตัวและหนวด ซึ่งจะตัดกับสีของลำตัวที่ออกเป็นสีเหลืองน้ำตาล อย่างชัดเจน วงแหวนสีน้ำเงินเหล่านี้สามารถเรืองแสงเมื่อถูกคุกคาม เนื่องจากหมึกชนิดนี้ มีสีสวยงาม และมีขนาดไม่ใหญ่มากจึง เป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบในการเลี้ยงปลาสวยงาม และสัตว์แปลก ๆ ในหลายๆประเทศ
หมึกสายวงน้ำเงินมีสารพิษที่มีความร้ายแรงมากผสมอยู่ในน้ำลาย ผู้ที่ถูกกัดอาจตายได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง จึงนับเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่มีพิษร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก สารพิษของหมึกสายวงน้ำเงินนั้น เรียกว่าเตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ซึ่งเป็นพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า ทั้งนี้ เตโตรโดท็อกซินที่พบทั้งในหมึกสายวงน้ำเงินและปลาปักเป้าไม่ได้ถูกสร้างจากภายในตัวของพวกมันเอง เพราะสัตว์เหล่านี้ไม่มียีนที่ควบคุมการสร้างพิษนี้ มีการศึกษาพบว่าพิษนี้ สร้างจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น แบคทีเรียในวงศ์ Vibrionaceae, Pseudomanas sp., Photobacterium phosphorium ฯลฯ ที่อาศัยอยู่ในตัวสัตว์แบบ พึ่งพา (symbiosis) โดยที่แบคทีเรียอาศัยตัวสัตว์เป็นที่อยู่และแหล่งอาหาร ส่วนสัตว์ได้พิษจากแบคทีเรียไว้เป็นอาวุธป้องกันตัวและล่าเหยื่อ
เตโตรโดท็อกซินเป็นพิษที่มีผลต่อระบบประสาท (Neurotoxin) ขนาดที่มนุษย์รับประทานแล้วเสียชีวิต คือ ประมาณ 1 มิลลิกรัม พิษนี้ทนความร้อนได้สูงถึง 200 องศาเซลเซียส ดังนั้นจึง ไม่สามารถทําลายพิษได้ด้วยการใช้ ความร้อนปกติในการปรุงอาหาร ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษใด ๆ ต่อต้านได้ผู้ป่วยที่ได้รับพิษเตโตรโดท็อกซินมีอัตราตายสูงถึง 50 - 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าผู้ป่วยยังมีชีวิตรอดหลังได้รับพิษแล้ว 24 ชั่วโมง พบว่ามี อัตราการรอดชีวิตสูงเกือบ 100 เปอร์เซนต์ พิษที่เกิดจากหมึกสายวงน้ำเงินกัด
จะเกิดอย่างรวดเร็วภายใน 5 นาทีหลังถูกกัด โดยเริ่มจากการชาบริเวณริมฝีปาก ลิ้น ต่อมาชาบริเวณใบหนา แขนขาและเป็นตะคริวในที่สุด น้ำลายไหล คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการท้องเสียร่วมกับปวดท้อง ซึ่งอาการปวดท้องจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นกล้ามเนื้อจะเริ่มทำงานผิดปกติ อ่อนแรง ในผู้ป่วยที่ได้รับพิษปริมาณมาก ระบบประสาทส่วนกลางจะไม่ทำงาน หายใจไม่ออกเนื่องจากกล้ามเนื้อ กะบังลมและหน้าอกไม่ทำงาน ทำให้ไม่สามารถนำอากาศเข้าสู่ปอดได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 4 - 6 ชั่วโมง แต่ก็มีรายงานการ เสียชีวิตเร็วที่สุดหลังจากได้รับพิษไปเพียง 20 นาที เท่านั้น
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ต้องหาวิธีนำอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่าปาก ฯลฯ จากนั้นต้องรีบนำส่งแพทย์โดยด่วน เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าช่วยชีวิตเป็นผล ผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง เว้นแต่ ว่าจะขาดอากาศนานเกินไปจนทำให้สมองตาย สำหรับผู้ที่ได้รับพิษจากหมึกสายวงน้ำเงินควรทำการปฐมพยาบาลในทันทีหลังถูกกัดโดยใช้เทคนิคการกดรัดและตรึงอวัยวะส่วนนั้นไม่ให้เคลื่อนไหว ทั้งนี้เพื่อทำให้พิษไม่แพร่กระจายเข้าระบบไหลเวียนโลหิต โดยใช้ผ้าพันจากอวัยวะส่วนปลายไล่มาจนถึงบริเวณเหนือแผลที่ถูกกัด ถ้าเป็นบริเวณแขนหรือขาให้ใช้วัสดุไม้ดามไว้ด้วย ถ้าถูกกัดบริเวณลำตัวในกรณีที่พันได้ให้พันด้วย แต่อย่าให้แน่นจนทำให้หายใจลำบาก และไม่ควรกรีดปากแผลที่ถูกกัดเพราะจะทำให้พิษกระจายมากขึ้น เทคนิคนี้เป็นการซื้อเวลาเพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้นก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล (ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กุมภาพันธ์ 2559, file:///C:/Users/acer/Downloads/7_59.pdf)