ข่าวประชาสัมพันธ์
จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นเหตุโรคโควิด-๑๙ ที่ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ขอสนับสนุนนโยบายรัฐร่วมกัน ต้านภัยโควิด-๑๙ โดยทุกครั้งที่ออกนอกบ้านควรใส่หน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด ใช้ลิฟท์ก็ไม่ยืนชิดติดกัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสคนป่วยหรือกลุ่มคนเสี่ยง หมั่นล้างมือ และหากมีอาการไข้รีบไปพบแพทย์ ที่สำคัญอีกอย่างคือต้องไม่ลืม การลด ละ เลิกใช้ภาชนะพลาสติกกันด้วยน๊า
น้องเต่ามะเฟือง...แห่งปี 63
กรม ทช. "สุดปลื้ม ปี 63 มีลูกเต่ามะเฟืองปล่อยลงทะเลอันดามัน ๓๕๑ ตัว" ภายใต้ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟือง จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต รวม ๗ แห่ง ตลอดระยะเวลา ๕ เดือน (พฤศจิกายน ๒๕๖๒ - เมษายน ๒๕๖๓) ทำให้สามารถเฝ้าระวัง ดูแล และอนุบาลลูกเต่ามะเฟือง ตั้งแต่แม่เต่าเริ่มวางไข่รังแรกเมื่อ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ จนถึงวันที่จัดการไข่รังที่ ๑๑ ที่หาดไม้ขาว ในวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๓ เสร็จเรียบร้อย โดยมีลูกเต่ามะเฟืองฟักเป็นตัวและปล่อยคืนลงสู่ทะเลอันดามันได้รวม ๓๕๑ ตัว นับเป็นผลสำเร็จอย่างมากที่สุดในรอบ ๒๐ ปี โดยสถิติเดิมที่เต่ามะเฟืองเคยขึ้นมาวางไข่มากสุดในปี ๒๕๔๒ อยู่ที่ ๙ รังเท่านั้น
เย้ๆ...มาแล้วลูกเต่าตนุปัตตานี
วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๓ กรม ทช. โดยศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยตอนล่าง นำไข่เต่าทะเลจากชายหาดบ้านระเวง
ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ซึ่งแม่เต่าขึ้นวางไข่เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา จำนวน ๖๑ ฟอง และเริ่มทยอยฟักออกเป็นตัวในช่วงวันที่ ๑๒-๑๔ เมษายน ๒๕๖๓ รวมที่ฟักออกจากไข่ ๕๑ ตัว ไข่เสีย ๖ ฟอง และไข่ลม ๔ ฟอง ลูกเต่าตนุที่ฟักในครั้งนี้มีสภาพแข็งแรง ว่ายน้ำได้ดี จึงนำลูกเต่าทั้งหมดลงสู่บ่อพักเพื่ออนุบาล และเฝ้าติดตามสุขภาพของลูกเต่าต่อไป
ข่าวสารทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
พบแมงกะพรุนหัวขวด Physalia sp. บริเวณหาดตอเขา จำนวน 2 ตัว และในวันที่ 5 เมษายน 2563 พบอีก 6 ตัว เจ้าหน้าที่ ศวทก. ได้ทำการแจ้งให้ประชาชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว ในพื้นที่ดังกล่าวระมัดระวังการสัมผัสพิษแมงกะพรุนชนิดนี้ ทั้งนี้หากได้รับบาดเจ็บจากพิษ ให้ใช้น้ำส้ม-สายชูราดต่อเนื่องบริเวณที่สัมผัส อย่างน้อย 30 วินาที และให้นำส่งผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อรักษาตามอาการต่อไป สำหรับอาการของผู้ที่ได้รับพิษแมงกะพรุนชนิดนี้ คือ บริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนหัวขวดจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบากได้ ทั้งนี้ ศวทก. ยังได้แจ้งเตือนเครือข่ายในพื้นที่ เกาะ
สมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่าให้เฝ้าระวัง เนื่องจากมีแนวโน้มจะพบแมงกะพรุนหัวขวดได้สูง
ตั้งแต่ช่วงวันที่ 21 มี.ค. - 20 เม.ย. 63 ศวทก. ได้รับแจ้งสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช 2 ครั้ง พบว่าเป็นซากโลมาหลังโหนก 1 ตัว บริเวณหาดหน้าด่าน สาเหตุการตายคาดว่าเกิดจากการป่วยตามธรรมชาติจากการติดเชื้อในทางเดินหายใจและมีแผลในกระเพาะอาหาร และซากเต่าหญ้าเกยตื้นบริเวณคลองระบายน้ำโครงการราชดำริบ้านหน้าโกฏิ เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อนำไปศึกษาพันธุกรรมต่อไป
ช่วงนี้อยู่บ้าน ทช.ชวนเรียนรู้
เรื่องเล่าเต่าทะเล... เต่าทะเล เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีกระดูกสันหลัง มีวิวัฒนาการมาจากเต่าที่อาศัยอยู่ในหนองน้ำจืดในยุคไดโนเสาร์ตอนปลาย (ยุคครีตาเซียส : Cretaceous) หรือประมาณ ๑๓๐ ล้านปีมาแล้ว สาเหตุที่เต่าอพยพลงสู่ทะเล ก็เพื่อลดการแย่งชิงแหล่งอาหารที่มีอยู่อย่างจำกัดบนบกนั่นเอง