ข่าวประชาสัมพันธ์
จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นเหตุโรคโควิด-๑๙ ที่ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ขอสนับสนุนนโยบายรัฐร่วมกัน ต้านภัยโควิด-๑๙ โดยทุกครั้งที่ออกนอกบ้านควรใส่หน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด ใช้ลิฟท์ก็ไม่ยืนชิดติดกัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสคนป่วยหรือกลุ่มคนเสี่ยง หมั่นล้างมือ และหากมีอาการไข้รีบไปพบแพทย์ ที่สำคัญอีกอย่างคือต้องไม่ลืม การลด ละ เลิกใช้ภาชนะพลาสติกกันด้วยน๊า
น้องเต่ามะเฟือง...แห่งปี 63
กรม ทช. "สุดปลื้ม ปี 63 มีลูกเต่ามะเฟืองปล่อยลงทะเลอันดามัน ๓๕๑ ตัว" ภายใต้ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟือง จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต รวม ๗ แห่ง ตลอดระยะเวลา ๕ เดือน (พฤศจิกายน ๒๕๖๒ - เมษายน ๒๕๖๓) ทำให้สามารถเฝ้าระวัง ดูแล และอนุบาลลูกเต่ามะเฟือง ตั้งแต่แม่เต่าเริ่มวางไข่รังแรกเมื่อ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ จนถึงวันที่จัดการไข่รังที่ ๑๑ ที่หาดไม้ขาว ในวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๓ เสร็จเรียบร้อย โดยมีลูกเต่ามะเฟืองฟักเป็นตัวและปล่อยคืนลงสู่ทะเลอันดามันได้รวม ๓๕๑ ตัว นับเป็นผลสำเร็จอย่างมากที่สุดในรอบ ๒๐ ปี โดยสถิติเดิมที่เต่ามะเฟืองเคยขึ้นมาวางไข่มากสุดในปี ๒๕๔๒ อยู่ที่ ๙ รังเท่านั้น
เย้ๆ...มาแล้วลูกเต่าตนุปัตตานี
วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๓ กรม ทช. โดยศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยตอนล่าง นำไข่เต่าทะเลจากชายหาดบ้านระเวง
ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ซึ่งแม่เต่าขึ้นวางไข่เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา จำนวน ๖๑ ฟอง และเริ่มทยอยฟักออกเป็นตัวในช่วงวันที่ ๑๒-๑๔ เมษายน ๒๕๖๓ รวมที่ฟักออกจากไข่ ๕๑ ตัว ไข่เสีย ๖ ฟอง และไข่ลม ๔ ฟอง ลูกเต่าตนุที่ฟักในครั้งนี้มีสภาพแข็งแรง ว่ายน้ำได้ดี จึงนำลูกเต่าทั้งหมดลงสู่บ่อพักเพื่ออนุบาล และเฝ้าติดตามสุขภาพของลูกเต่าต่อไป
ข่าวสารทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
เดือนเมษายน 2563 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน (ศวทก.) ติดตามงานฟื้นฟูวิจัยปะการังบริเวณเกาะไข่ จากการสำรวจเบื้องต้นน้ำทะเลลึกประมาณ 5-7 ม. อุณหภูมิน้ำประมาณ 31 °C ความเค็ม 31 ppt ทัศนวิสัยใต้น้ำประมาณ 5-6 ม. ผลจากการเทียบสีปะการังรูปทรงก้อนและแผ่นกับแผ่นเทียบสีสุขภาพปะการัง (Coral Watch Chart) ยังไม่พบปะการังฟอกขาวในปะการัง ส่วนบริเวณเกาะร้านเป็ด-ร้านไก่ เป็นกลุ่มปะการังขึ้นบนหิน ปะการังที่พบ เช่น ปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora sp.) ปะการัโขด (Porites lutea)ปะการังเขากวางโต๊ะ (Acropora sp.) และปะการังสมองร่องยาว(Platygyra sp.) และพบว่าปะการังเริ่มมีลักษณะสีซีด เช่น ปะการังโขดและปะการังสมองร่องยาว ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ศวทก. ทำการแจ้งเครือข่ายเฝ้าระวังต่อไป
วันที่ 14 เมษายน 2563 เจ้าหน้าที่ ศวทก. ได้ดำเนินการปล่อยเต่าทะเลจำนวน 16 ตัว ประกอบไปด้วยเต่ากระ 10 ตัว เต่าตนุ 6 ตัว ซึ่งเป็นเต่าที่เกยตื้นในพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่ได้นำกลับมารักษา ดูแล ที่โรงเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลหายากภายใน ศวทก. เมื่อได้ทำการรักษาพยาบาลจนหายเป็นปกติ และจากการตรวจเลือดพบว่าเต่าทะเลมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ จึงนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ณ ชายหาดทุ่งวัวแล่น ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร โดยได้ติดเครื่องหมายเต่าทะเลทุกตัวที่ปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติในครั้งนี้
ตั้งแต่ช่วงวันที่ 21 มี.ค. - 20 เม.ย. 63 ศวทก. ได้รับแจ้งสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นในพื้นที่ จ.ชุมพร รวม 2 ครั้งพบว่าเป็นซากเต่าตนุทั้ง 1 ตัว จากการผ่าชันสูตรภายในกระเพาะอาหารพบเศษอวนเชือก และก้านสำลีพลาสติกในลำไส้ ซากโลมาหัวบาตรหลังเรียบ เกยตื้นเขตอำเภอหลังสวน มีบาดแผลบริเวณโคนหาง สาเหตุการตายคาดว่าเกิดจากการติดเครื่องมือประมงไม่ทราบชนิดทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อนำไปศึกษาพันธุกรรมต่อไป
ศวทก. รับแจ้งเหตุสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น และสถานการณ์ฉุกเฉินทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โทรศัพท์ 07751 0213-4โทรสาร 0 7751 0215 http://dmcrth.dmcr.go.th