แมงกะพรุน (Jellyfish) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) เช่นเดียวกันกับดอกไม้ทะเล (sea anemones) และปะการัง แมงกะพรุนเป็นแพลงก์ตอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดล่องลอยอยู่ในมวลน้ำ กินอาหารจำพวกสัตว์ต่าง ๆ เช่น กุ้งปลา โดยทั่วไปมีรูปร่างคล้ายร่มหรือกระดิ่งคว่ำ ตัวแมงกะพรุนประกอบด้วยวุ้นเป็นส่วนใหญ่ซึ่งมีน้ำเป็นองค์ประกอบมากถึงร้อยละ 95 มีระบบประสาท แต่ไม่มีสมอง
แมงกะพรุนมีมากกว่า 9,000 สายพันธุ์ และมากกว่า 100 สายพันธุ์มีพิษต่อมนุษย์ พบแพร่กระจายอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก สามารถพบได้ตั้งแต่บริเวณผิวน้ำจนถึงทะเลลึก ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตในทะเลบริเวณน้ำตื้น แต่มีบางชนิดที่อยู่ในน้ำจืด พิษของแมงกะพรุนบรรจุอยู่ในแคปซูล ที่เรียกว่า นีมาโตซีส (nematocyst) ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปในทุกส่วนของแมงกะพรุน โดยเฉพาะส่วนหนวด (tentacle) การสัมผัสแมงกะพรุนพิษทำให้บาดเจ็บได้ในหลายระดับขึ้นอยู่กับชนิดของแมงกะพรุนพิษและปริมาณพิษที่ได้รับ ทั้งนี้บริเวณที่สัมผัสมีอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่รู้สึกคัน มีผื่นเล็กน้อย ปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่สัมผัสหรือได้รับพิษ ไปจนถึงทำให้หัวใจหรือระบบหายใจล้มเหลว
แมงกะพรุนที่มีพิษในน่านน้ำไทย ได้แก่ แมงกะพรุนกล่องบางชนิด และแมงกะพรุนไฟในกลุ่ม Scyphozoa และแมงกะพรุนหัวขวดในกลุ่ม Hydrozoa
ข้อมูล : สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
วันที่ : 28 พฤษภาคม 2563
Ref. https://km.dmcr.go.th/th/c_247