วันที่ 22-26 มิถุนายน 2563 เจ้าหน้าที่งานปะการัง กลุ่มนิเวศทางทะเล ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง (ศวทก. ชุมพร) เดินทางไปราชการ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อสำรวจสถานภาพทรัพยากรปะการังจำนวน 2 สถานี ได้แก่ เกาะราหิน เกาะราเทียน โดยวิธี Line-Intercept Transect และ วิธี Spot check บริเวณเกาะราหิน, เกาะราเทียน,เกาะเต้าปูน-เกาะส้ม,เกาะสมุย-มัดหลัง (แหลมทราย-อ่าวโพธิ์ลายอ่าวบ่อผุด-อ่างบางรัก แหลมฟาน-อ่าวเฉวง) และเก็บ Data logger บริเวณเกาะกะเต็นด้านทิศตะวันออก จ.สุราษฎร์ธานี ผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่าน้ำทะเลลึกประมาณ 0.5-8 เมตร อุณหภูมิน้ำประมาณ 31 องศาเซลเซียส ทัศนวิสัยใต้น้ำประมาณ 0.5-6 เมตร ปะการัง กลุ่มเด่น ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังดอกไม้ทะเล(Goniopora sp.) ปะการังจาน (Turbinaria sp.) ปะการังวงแหวน (Favia sp.) ปะการังสมองใหญ่ (Symphyllia sp.) ปะการังสมองร่องยาว (Platygyra sp.) ปะการังลายดอกไม้(Pavona sp.) ปะการังกาแล็คซี่ (Galaxea sp.) ปะการังดอกกะหล่ำ(Pocillopora damicornis) ปะการังช่องเล็ก (Montipora sp.) ปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ปะการังดาวใหญ่ (Diploastrea heliopora) ปะการังช่องดาว (Astreopora sp.) พบการฟอกขาว 5-10 เปอร์เซ็นต์ได้แก่ ปะการังช่องดาว (Astreopora sp.) ปะการังช่องเล็ก (Montipora sp.) ปะการังสีซีดจาง 10-40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสัตว์ในแนวปะการังที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ เม่นดำหนามยาว (Diadema setosum) ทากเปลือยโจรันนา (Jorunna funebris) ปลาที่พบในแนวปะการัง ได้แก่ ปลาสลิดหินหางขลิบดำ (Chromis tematensis) ปลาสลิดหินหางพริ้วธรรมดา (Neopomacentrus cyanomos) ปลาสลิดหินเล็กหางเหลือง (Neopomacentrus sororius) ปลาสลิดหินเขียว (Chromis viridis) และปะการังที่พบเป็นโรคมากที่สุดคือ ปะการังโขดโรคที่ปรากฏบนปะการัง เช่น โรคจุดชมพู โรคจุดขาว และพบเศษอวนปกคลุมปะการัง และตะกอนขึ้นปกคลุมปะการังบางพื้นที่