ปะการังมีการอยู่ร่วมกันกับสิ่งมีชีวิตอื่นได้หลากหลายรูปแบบ เช่น หนอนตัวกลม ฟองน้ำ หนอนถั่ว ไส้เดือนทะเล หอยฝาเดียว หอยสองฝา เพรียง กุ้ง ปู ดาวเปราะ และปลา เป็นต้น โดยมีความสัมพันธ์ในเรื่องของอาหาร โดยปะการังเป็นผู้ปล่อยสารอินทรีย์ออกมาให้เป็นอาหาร เช่น เมือกของปะการังเป็นอาหารของสัตว์หลายชนิด ได้แก่ ปูปะการังก้ามดำในสกุล Trapezia spp. และเนื้อเยื่อของปะการังก็เป็นอาหารของสัตว์กลุ่มหอยฝาเดียว นอกจากนี้โครงสร้างแข็งของปะการังยังใช้เป็นที่หลบภัยและป้องกันอันตราย และพบว่ากลุ่มสัตว์ที่เป็น deposit-feeding crustaceans ที่อาศัยอยู่ตามกิ่งก้านของปะการังจะกินตะกอนที่เกาะตามโคโลนีของปะการัง ซึ่งเป็นประโยชน์ช่วยป้องกันการทับถมของตะกอนบนปะการัง ส่วนปลาและกลุ่มครัสเตเซียนที่เข้ามาอาศัยในก้อนปะการังเป็นผู้ช่วยกินตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตที่เข้ามาเจาะไชก้อนปะการัง (boring organisms) และกำจัดตะกอนที่ตกทับถมบนปะการัง จากการศึกษายังพบว่าปูและปลาขนาดเล็กที่อยู่กับปะการัง P. damicornis จะช่วยขับไล่ดาวมงกุฎหนามให้ออกไปแนวปะการังได้ ส่วนปูชนิด Trapezia cymodoce ที่มีขนาดใหญ่จะอาศัยอยู่ร่วมกับปะการังที่มีขนาดของโคโลนีใหญ่เท่านั้น เนื่องจากโคโลนีขนาดใหญ่จะผลิตอาหารจำพวกเมือกได้มากกว่า สรุปได้ว่าการเข้ามาอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลายชนิดภายในช่องว่างระหว่างกิ่งก้านของก้อนปะการัง ส่งผลให้เกิดมีสิ่งมีชีวิตในแนวปะการังมีทั้งแบบที่อาศัยอยู่ชั่วคราวหรืออยู่แบบถาวร จากจุดนี้ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ที่หลากหลายของสิ่งมีชีวิตทำให้เกิดห่วงโซ่อาหารภายในระบบนิเวศในแนวปะการัง