ข่าวประชาสัมพันธ์

ทรัพยากรสัตว์ป่า

ชนิดพันธุ์สัตว์ที่ปรากฏในพื้นที่ศึกษา
กลุ่มนก (Birds)     
     ในการศึกษาครั้งนี้ได้เก็บข้อมูลบริเวณหมู่เกาะกระ แนวชายหาด หาดหิน ป่าบนสันเขา โดยการเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ศึกษาระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2550 และ16-19 พฤษาคม 2551 พบนกบริเวณหมู่เกาะกระทั้งหมด จำนวน 26 ชนิด 22 สกุล จาก 14 วงศ์

     ชนิดนกที่ปรากฏในพื้นที่ศึกษาเป็นนกที่พบได้บ่อยในป่าชายหาด นกที่พบได้บ่อยจากการสำรวจ ได้แก่ นกโจรสลัดเกาะคริสต์มาส Fregata andrewsi นกยางกรอกพันธุ์จีน (Ardeola bacchus) นกออก(Haliaeetus leucogaster) นกนางนวลแกลบท้อยทอยดำ(Sterna sumatrana) นกลุมพูขาว(Ducula bicolor) นกชาปีไหน (Caleoenas nicobarica) นกแสก (Tyto alba) นกนางแอ่นบ้าน ( Hirundo rustica) นกแอ่นกินรัง(Aerodramus fuciphagus) นกเด้าลมหลังเทา (Motacilla cinerea) นกจับแมลงสีน้ำตาล ( Muscicapa dauurica) และนกอีเสือสีน้ำตาล ( Lanius cristatus) เกาะกระเป็นแหล่งทำรังวางไข่ เช่น นกชาปีไหน นกออก เป็นต้น

 

ดูบัญชีรายชื่อชนิดนก สถานะประชากร ชนิดอาหาร และสถานภาพทางการอนุรักษ์
 

โครงสร้างการกินอาหาร (Guild structure)
     การศึกษากลุ่มอาหารของนกที่พบตามโครงสร้างการกินอาหาร โดยจัดแบ่งชนิดนกตามกลุ่มอาหารหลักโดยอ้างอิงจากการสังเกตภาคสนาม รูปร่างปาก และการตรวจเอกสาร จำแนกชนิดนกทุกชนิดที่พบจากการศึกษาครั้งนี้ตามกลุ่มอาหารหลักสามารถจัดแบ่งได้เป็นกลุ่ม ดังนี้ กลุ่มนกกินสัตว์มีกระดูกสันหลังและปลาเป็นอาหาร พบมากที่สุด จำนวน 13 ชนิด 7 วงศ์ รองลงมาเป็น กลุ่มนกกินแมลง จำนวน 10 ชนิด 6 วงศ์ กลุ่มนกกินผลไม้ จำนวน 3 ชนิดจาก 2 วงศ์ (ตารางที่ 8.1)

     จากการศึกษาพบนกอพยพทั้งหมด 15 ชนิด สามารถแบ่งกลุ่มได้ดังนี้ (อ้างตาม Lekagul and Round, 1991) 1) กลุ่มนกบก (Terrestrial Bird) เป็นนกกินผลไม้และแมลง ได้แก่ นกเด้าลม นางแอ่นบ้านและนกกิ่งโครงแกลบหลังม่วงดำ เป็นต้น 2) กลุ่มนกลุยน้ำ (Wadering Bird) เป็นนกหาอาหารตามแหล่งน้ำ กินสัตว์ขนาดเล็ก ได้แก่ นกยางเปีย นกยางเขียว เป็นต้น 3) กลุ่มนกล่าเหยื่อ (Predatory Bird) เป็นผู้ล่า ล่านกหรือสัตว์อื่นเป็นอาหารได้แก่ เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มของนกอพยพที่พบยังสามารถแบ่งเป็นกลุ่มตามชนิดของอาหารที่กิน ได้แก่ กลุ่มที่กินแมลงเป็นอาหารหลัก กลุ่มที่กินสัตว์มีกระดูกสันหลังและปลา และกลุ่มที่กินผลไม้เป็นอาหารหลัก พบว่ากลุ่มที่กินแมลงเป็นอาหารหลักมีความหลากชนิดมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มนกจับแมลง เช่น นกจับแมลงสีน้ำตาล กลุ่มนกกระจิ๊ด เช่น นกกระจิ๊ดขั้วโลก นกกระจิ๊ดธรรมดา

สถานภาพทางการอนุรักษ์
     ผลการศึกษาความหลากหลายชนิดนกบนเกาะกระจังหวัดนครศรีธรรมราช สำรวจพบนกที่ถูกคุกคามต่อการดำรงชีวิตอันมีผลต่อการสูญพันธุ์ (ตามเกณฑ์กำหนดของ IUCN Red List 2005 และตามสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ. 2548) ซึ่งจำแนกประเภทนก สถานภาพถูกคุกคาม (Threatened) ออกเป็น 4 ระดับ คือ (ตารางที่ 8.1 )

  • นกที่มีสถานภาพ ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered ; CE) พบ 1 ชนิดได้แก่ นกโจรสลัดเกาะคริสต์มาส
  • นกที่มีสถานภาพ ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered ; EN) พบ 1 ชนิด ได้แก่ นกยางจีน
  • นกที่มีสถานภาพ มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable ; VU) พบ 1 ชนิด ได้แก่ นกชาปีไหน
  • นกที่มีสถานภาพ กลุ่มที่ใกล้ถูกคุกคาม (Near threatened ; NT) พบ 3 ชนิด ได้แก่ นกออก นกแสก และนกนางนวลแกลบท้ายทอยดำ

กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals)
     สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบก พบ 2 ชนิด คือ หนูฟานเหลือง (Maxomys surifer) และค้างคาวแม่ไก่เกาะ(Pteropus hypomelanus) การจัดสถานภาพการอนุรักษ์ ONEP 2005 (Thai red list) พบสัตว์ที่มีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) 1 ชนิด คือค้างคาวแม่ไก่เกาะ

กลุ่มสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (Reptiles and Amphibians)
     พบสัตว์เลื้อยคลานพบ 7 ชนิด ได้แก่ จิ้งจกหางหนาม(Hemidactylus frenatus) จิ้งเหลนบ้าน(Mabuya multifasciata) ตุ๊กแกบินหางแผ่น (Ptychozoon kuhlii) ตุ๊กกาย(Cyrtodactylus sp.) งูสร้อยทองหรืองูปล้องฉนวนภูเขา (Dinodon septentrionale) เต่ากระ(Eretmochelys imbricate) และเต่าตนุ(Chelonia mydas) โดยพบว่าเต่ากระและเต่าตนุเป็นสัตว์ที่ มีสถานภาพการอนุรักษ์ตามการจัดการของ ONEP 2005 (Thai red list) ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered)

     พบชนิดนกทั้งหมด บริเวณหมู่เกาะกระ จำนวน 26 ชนิด 22 สกุล จาก 14 วงศ์ ชนิดนกที่ปรากฏในพื้นที่เป็นนกที่พบได้บ่อยในป่าชายหาดนกที่พบได้บ่อยจากการสำรวจ ได้แก่ นกโจรสลัดเกาะคริสต์มาส (Fregata andrewsi) นกยางกรอกพันธุ์จีน (Ardeola bacchus) นกออก (Haliaeetus leucogaster) นกนางนวลแกลบท้ายทอยดำ(Sterna sumatrana) นกลุมพูขาว(Ducula bicolor) นกชาปีไหน (Caleoenas nicobarica) นกแสก (Tyto alba) นกนางแอ่นบ้าน (Hirundo rustica) นกแอ่นกินรัง (Aerodramus fuciphagus) นกเด้าลมหลังเทา (Motacilla cinerea) นกจับแมลงสีน้ำตาล ( Muscicapa dauurica) และนกอีเสือสีน้ำตาล ( Lanius cristatus)