ข่าวประชาสัมพันธ์

ศวทล. สำรวจประเมินสถานภาพแนวปะการังชายฝั่ง จ.นครศรีธรรมราช

ศวทล. สำรวจประเมินสถานภาพแนวปะการังชายฝั่ง จ.นครศรีธรรมราช

          วันที่ 2-6 กันยายน 2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) ปฏิบัติงานสำรวจประเมินสถานภาพแนวปะการังชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช บริเวณแหลมคอกวาง เขาพลายดำ และแหลมท้องหยี-แหลมท้องยาง โดยวิธีการ Spot check ผลการสำรวจสถานภาพปะการังอยู่ในระดับเสียหายมาก พบปะการังมีชีวิตปกคลุม 10-15% ลักษณะของแนวปะการังก่อตัวอยู่บนแนวหินบริเวณชายฝั่ง ความลึก 1-4 เมตร ปะการังชนิดเด่น คือ ปะการังดอกไม่จิ๋ว (Bernardpora stutchburyi) ปะการังที่พบได้ทั่วไป ประกอบด้วย ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังดอกไม้ทะเล (Goniopora sp.) ปะการังรังผึ้ง (Goniastrea sp.) และปะการังจาน (Turbinaria sp.) ปะการังในพื้นที่ส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายจากการฟอกขาว และตะกอนปกคลุม สัตว์น้ำหน้าดินที่พบ ได้แก่ ฟองน้ำ (Sponges) กัลปังหา (Sea fan) และสาหร่ายพัด อุณหภูมิน้ำทะเล 30 องศาเซลเซียส ความเค็ม 30-31 พีพีที การสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจเพิ่มเติมนอกเหนือจากสถานีสำรวจในรอบปี เพื่อติดตามสถานภาพปะการัง ทั้งนี้แนวปะการังบริเวณนี้ไม่ได้จัดอยู่ในฐานข้อมูลแนวปะการังในประเทศไทย เนื่องจากผลการสำรวจที่ผ่านมา พบเปอร์เซ็นปกคลุมของปะการังมีชีวิตน้อยกว่า 25%