ตามที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) ได้รับข้อมูลผ่านทางสื่อออนไลน์เฟสบุ๊ค เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 จากผู้ใช้นามว่า Marco G. Tahini ได้โพสต์ลงในกลุ่ม “นี่ตัวอะไร” ว่าได้พบสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่บริเวณชายหาดตะโละสะมิแล จ.ปัตตานี มีลักษณะคล้ายแมงกะพรุน แต่ไม่ทราบชนิดขึ้นเต็มชายหาด พร้อมส่งรูปถ่ายประกอบ เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จึงได้ลงพื้นที่ดังกล่าวเพื่อตรวจสอบ พบการแพร่กระจายของแมงกะพรุนกะลาสีเรือตามลม (Velella velella) ขนาดลำตัวเฉลี่ย 3-5 ซม. จำนวนมากบริเวณพื้นที่ชายหาดตะโละสะมิแล (19,000 ตัว/ 100 ม.) โดยแมงกะพรุนชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มไฮโดรซัว (Hydrozoa) ซึ่งเป็นแมงกะพรุนที่เคยมีรายงานการพบที่จ.ภูเก็ต เเละ จ.สงขลา เป็นแมงกะพรุนที่มีพิษเล็กน้อย ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่อาจก่อให้เกิดผื่นแดงหรือระคายเคืองในคนที่แพ้พิษได้ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากได้รับพิษจากแมงกะพรุน ให้ใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่สัมผัสอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 วินาที ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล พร้อมนี้เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างเพื่อนำมาศึกษาวิจัยต่อไป