วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) ได้ลงพื้นที่สำรวจการแพร่กระจายของแมงกะพรุนพิษบริเวณชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา พบการแพร่กระจายของแมงกะพรุนกะลาสีเรือตามลมชนิด Velella velella ขนาดลำตัวเฉลี่ย 3-5 ซม. จำนวน 650 ตัว/ 100 ม. และแมงกะพรุนหัวขวด (Bluebottle Jellyfish) สกุลไฟซาเลีย (Physalia sp.) ขนาดลำตัวเฉลี่ย 1-4 ซม. จำนวน 18 ตัว/ 100 ม. โดยแมงกะพรุนชนิด Velella velella เป็นแมงกะพรุนที่มีพิษเล็กน้อย ไม่เป็นอันตรายมาก แต่อาจก่อให้เกิดผื่นแดงหรือระคายเคืองในคนที่แพ้พิษได้ ในขณะที่บริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุน Physalia sp. อาจทำให้มีรอยแผลนูนแดง ปวดแสบร้อน อาการหลังจากโดนพิษในบางรายอาจจะมีอาการรุนแรง (ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง แน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ หรือหมดสติ) แต่ระดับความเป็นพิษก็ขึ้นอยู่กับความต้านทานของแต่ละบุคคลและปริมาณพิษที่ได้รับ พร้อมนี้เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ได้ประสานสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (สงขลา) จัดเตรียมเสาน้ำส้มสายชูในพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยว และได้ประสานแจ้งข้อมูลเบื้องต้นเข้ากลุ่มไลน์ "เฝ้าระวังบาดเจ็บชายฝั่งทะเล" ของจังหวัดสงขลา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ