ราชบัณฑิตยสถาน (2539: 690 - 691) ได้ให้ความหมายป่าชายเลนไว้ว่า ป่าชายเลน หมายถึง ป่าที่อยู่ริมฝั่งทะเลในเขตเมืองร้อน โดยเฉพาะบริเวณใกล้ปากแม่น้ำ มีไม้ประเภทรากงอกออกไปจากลำต้น และกิ่งก้านสาขา เพื่อค้ำยันลำต้นตามฝั่งที่มีคลื่นลม มีไม้โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก รังกระแท้ ประสักแดง โปรง โปรงแดง ตะบูนขาว ตะบูนดํา ลําพู ลําแพน แสมดำ แสมขาว ฝาดแดง ฝาดขาว โพทะเล ตาตุ่ม และอื่นๆ ไม้พื้นล่างมีปรงทะเล เหงือกปลาหมอ จาก และอื่นๆ ปะปนอยู่
สนิท อักษรแก้ว (2542 : 3; อ้างจาก Du. 1992) ให้ความหมาย ป่าชายเลน หรือ Mangrove Forest ไว้ 2 ประการ คือ ประการแรก คือ สังคมพืชที่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิด หลายตระกูล และเป็นพวกที่มีใบเขียวตลอดปี (Evergreen Species) ซึ่งมีลักษณะทางสรีรวิทยาและความต้องการสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกัน และประการที่สอง หมายถึง กลุ่มของสังคมพืชที่ขึ้นอยู่บริเวณปากอ่าวชายฝั่งทะเลบริเวณเขตร้อน (Tropical Region) ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้สกุลโกงกาง (Rhizophora) เป็นไม้สำคัญ และมีไม้ตระกูลอื่นปะปนอยู่บ้าง
สนิท อักษรแก้ว (2542 : 16) ได้ให้ความหมายว่า ป่าชายเลน หรือ ป่าโกงกาง (Mangrove Forest) หรือ (Intertidal Forest) หมายถึง กลุ่มของสังคมพืชที่ขึ้นอยู่ในเขตน้ำลงต่ำสุดและขึ้นสูงสุดบริเวณชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ อ่าว ทะเลสาบ และลำคลอง ที่มีน้ำทะเลหรือน้ำกร่อยท่วมถึง ได้มีผู้ให้ความหมายป่าชายเลนไว้ 2 ประการ คือ ประการแรก หมายถึง สังคมพืชที่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิดและหลายตระกูล เป็นพวกที่มีใบเขียวตลอดปี ซึ่งมีลักษณะทางสรีรวิทยาและความต้องการสิ่งแวดล้อมคล้ายคลึงกัน ประการที่สอง หมายถึง กลุ่มสังคมพืชที่ขึ้นอยู่บริเวณปากอ่าวชายฝั่งทะเลเขตร้อน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้สกุลโกงกาง (Rhizophora) ซึ่งเป็นไม้สำคัญและมีไม้ในสกุลอื่นอยู่บ้าง
ป่าชายเลน (Mangrove forest หรือ Intertidal forest) เป็นสังคมพืชที่อยู่ในบริเวณแนวขอบเขตระหว่างแผ่นดินกับพื้นน้ำทะเล หรือบริเวณปากแม่น้ำที่มีลักษณะน้ำกร่อยหรือน้ำทะเล ประกอบด้วยสังคมพืช เช่น ไม้ต้น และไม้พุ่ม และสัตว์หลากหลายชนิด ดำรงชีวิตร่วมกันภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นดินเลนน้ำกร่อย และมีน้ำทะเลท่วมถึงอย่างสม่ำเสมอ (พูลศรี และคณะ, 2556)
สังคมพืชในป่าชายเลนมีลักษณะพิเศษที่สามารถอยู่ในสภาวะน้ำขึ้น-น้ำลงของน้ำทะเลหรือน้ำกร่อยได้ เมื่อน้ำขึ้น รากของพันธุ์ไม้ในป่าชายเลนจะจมอยู่ใต้น้ำ และจะโผล่เหนือพื้นน้ำในช่วงน้ำลง นอกจากนี้ด้วยลักษณะพิเศษของระบบรากและลำต้นของต้นไม้ในป่าชายเลนที่มีจำนวนมาก มีความสลับซับซ้อนและยึดโยงกับพื้นโคลนอย่างเหนียวแน่น ทำให้ป่าชายเลนเป็นแนวลดพลังงานคลื่นลมและกระแสน้ำ (Christensen et al., 2008) สร้างเสถียรภาพของตะกอนชายฝั่ง และป้องกันชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะได้ด้วย (Mazda et al., 1997, Thampanya et al., 2006, Thampanya et al., 2002) จึงนับได้ว่าเป็นสังคมพืชสามารถดำรงอยู่ได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่แปรผันตลอดเวลา ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าป่าชายเลนเป็นสังคมพืชที่มีลักษณะพิเศษ
ที่ไม่มีในป่าชนิดอื่น
ป่าชายเลนเป็นพื้นที่ที่สัตว์บก และสัตว์น้ำอาศัยอยู่ร่วมกัน ซึ่งไม่พบในระบบนิเวศอื่น เช่น ปู หอย ลิงแสม และค้างคาว ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ในป่าชายเลนจะมีการหมุนเวียนของอินทรียสาร และอินทรียสารอย่างค่อนข้างลงตัว และมีอิทธิพลต่อระบบนิเวศชายฝั่ง ระบบนิเวศน้ำกร่อย และแม่น้ำที่อยู่ใกล้เคียง จึงกล่าวได้ว่า ป่าชายเลนเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในระหว่างระบบนิเวศชายฝั่งและเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในวงจรชีวิตของปลาหลากชนิด และสัตว์อื่น ๆ (สรายุทธ และรุ่งสุริยา, 2554)
คำว่า “ป่าชายเลน” สำหรับนานาชาตินั้น มีความหมายไม่เฉพาะแต่พันธุ์ไม้หรือหมู่ไม้เท่านั้น แต่จะหมายถึงระบบนิเวศซึ่งรวมสัตว์ ป่าชายเลนอาจจะเป็นป่าที่มีความแปลกที่สุด เนื่องจากประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่ปรับตัวให้เข้ากับปัจจัยแวดล้อมที่แปรผันเป็นอย่างมาก และมีการพัฒนาการจนมีลักษณะพิเศษบางประการ เช่น มีรากค้ำยัน รากอากาศ หรือรากหายใจ และกล้าไม้ที่งอกตั้งแต่อยู่บนต้น (สรายุทธ และรุ่งสุริยา, 2554)
นอกจากนี้ ป่าชายเลนยังอุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ ปัจจุบันมีการศึกษาจำนวนมากได้ยืนยันถึงความสำคัญของป่าชายเลนในแง่มุมต่างๆ อย่างชัดเจน เช่น เป็นแหล่งอาหารและแหล่งที่อยู่ของพืชและสัตว์จำนวนมาก และเป็นแหล่งประมงชายฝั่งที่สำคัญต่อชาวประมง เป็นต้น (สนิท อักษรแก้ว, 2542)
อ้างอิง:
พูลศรี วันธงไชย, วรวุฒิ พิทักษ์สันติกูล, นวพร สุญาณเศรษฐกร, ปวีณา เชื้อผู้ดี. (2556). คู่มือความรู้เรื่องป่าชายเลน (พิมพ์ครั้งที่ 5). นนทบุรี: บริษัท พลอยมีเดีย จำกัด.
สรายุทธ บุณยะเวชชีวิน และรุ่งสุริยา บัวสาลี. (2554). ป่าชายเลน: นิเวศวิทยาและพรรณไม้. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพมหานคร. บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
สนิท อักษรแก้ว. (2542). การฟื้นฟูและการพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนเพื่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
สนิท อักษรแก้ว. (2542). ป่าชายเลน นิเวศวิทยาและการจัดการ. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Christensen SM, Tarp P, Hjortso CN. (2008). Mangrove forest management planning in coastal buffer and conservation zones, Vietnam: A multimethodological approach incorporating multiple stakeholders. Ocean and Coastal Management, 51, 712-726
Mazda Y, Magi M, Ikeda Y, Kurokawa T, Asano T. (1997). Wave reduction in a mangrove forest dominated by Sonneratia sp. Wetlands Ecology and Management, 14, 365-378.
Thampanya U, Vermaat JE, Terrados J. (2002). The effect of increasing sediment accretion on the seedling of three common Thai mangrove species. Aquatic Botany, 74, 315-325.
Thampanya U, Vermaat JE, Sinsakul S, Panapitukkul N. (2006). Coastal erosion and mangrove progradation of Southern Thailand. Estuarine Coastal and Shelf Science, 68, 75-85.