ข่าวประชาสัมพันธ์

ป่าชายเลนโลก

โดยทั่วไปป่าชายเลนจะขึ้นกระจายครอบคลุมระหว่างชายฝั่งในแถบเขตร้อนประมาณร้อยละ 65 จะพบในพื้นที่ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำทะเลในฤดูหนาวไม่ต่ำกว่า 20 องศาสเซลเซียส แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอุณหภูมิของน้ำ แต่มีข้อยกเว้นในซีกโลกใต้ ได้แก่ แนวชายฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริการใต้ ออสเตรเลีย และเกาะเหนือของนิวซีแลนด์ จะพบป่าชายเลนที่อยู่เลยแนวบรรจบของกระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็น คาดว่าป่าชายเลนเหล่านี้เป็นสังคมพืชที่หลงเหลือมาจากในอดีต แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทร เมื่อพิจารณาถึงพันธุ์ไม้ในป่าชายเลนในแต่ละพื้นที่ สามารถแบ่งป่าชายเลนในโลกออกเป็น 2 เขต แต่ละเขตแบ่งเป็น 3 ภูมิภาค คือ เขตตะวันออก เรียกว่า อินโด-แปซิฟิกตะวันตก (Indo West Pacific) ซึ่งพบว่ามีการกระจายตั้งแต่ชายฝั่งด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกา ชายฝั่งของประเทศอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก และเขตตะวันตก มีชื่อว่า แอตแลนติก-แปซิฟิกตะวันออก (Atlantic East Pacific) จะกระจายตามชายฝั่งเขตร้อนของทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ หมู่เกาะอินเดียตะวันตก และชายฝั่งด้านตะวันตกของทวีปแอฟริกา (สรายุทธ และรุ่งสุริยา, 2554)

ภาพแสดงการกระจายของป่าชายเลนตามเขตภูมิศาสตร์ เส้นทึบตามแนวชายฝั่งแสดงการกระจายของป่าชายเลน ลูกศรแสดงกระแสน้ำหลักในมหาสมุทร

ที่มา: http://mangrovewatch.org.au/learn/

The Global Forest Resources Assessment (FRA) รายงานสถานะและแนวโน้มของทรัพยากรป่าไม้ของโลก โดยในปี 2020 ได้รับรายงานสถานะป่าชายเลนจากประเทศทั่วโลกที่มีป่าชายเลน จำนวน 113 ประเทศ พบว่า มีพื้นที่ป่าชายเลนทั่วโลก 14,786,000 เฮกตาร์ หรือ 92,412,500 ไร่ หรือ 147,860 ตารางกิโลเมตร โดยทวีปเอเชียมีพื้นที่มากที่สุด 5,547,000 เฮกตาร์ หรือ 34,668,750 ไร่ หรือ 55,470 ตารางกิโลเมตร รองลงมาคือ ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง ทวีปอเมริกาใต้ และทวีปโอเชียเนีย

ประเทศที่มีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุด 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย บราซิล ไนจีเรีย และประเทศเม็กซิโก มีพื้นที่ 17,575,000 ไร่ 8,325,000 ไร่ 6,475,000 ไร่ และ 5,550,000 ไร่ ตามลำดับ

พรรณไม้เด่นในป่าชายเลน อาทิ ไม้ในสกุลโกงกาง (Rhizophora spp.), แสม (Avicennia spp.), ลำพู, ลำแพน (Sonnerata spp.), ถั่ว (Bruguiera spp.), โปรง (Ceriops spp.), ตะบูน (Xylocarpus spp.) และ หงอนไก่ทะเล (Heritiera spp.) เป็นต้น

ตารางแสดงพื้นที่ป่าชายเลนจำแนกตามเขตพื้นที่


(ข้อมูลจาก : องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations 2020 หรือ FAO 2020)

ป่าชายเลน : ทวีปเอเชีย

ทวีปเอเชีย มีพื้นที่ป่าชายเลนรวม 55,470 ตารางกิโลเมตร หรือ 34,668,750 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 37.52 ของป่าชายเลนทั่วโลก พบในประเทศต่างๆ เช่น สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ราชอาณาจักรไทย มาเลเซีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เนการาบรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์เลสเต ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย สาธารณรัฐเยเมน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  รัฐสุลต่านโอมาน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ รวมถึงสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์และรัฐเอริเทรีย สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น เป็นต้น สำรวจพบพรรณไม้ป่าชายเลนแท้จริงทั้งสิ้น 51 ชนิด เนื่องจากพื้นที่ในบริเวณนี้เป็นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย จึงทำให้มีพรรณไม้มากมายหลายชนิด

พรรณไม้เด่น

Rhizophora x lamarkii เป็นลูกผสมของ Rhizophora apiculata (โกงกางใบเล็ก) และ R.stylosa เป็นไม้ต้น สูงถึง 25 เมตร เปลือกสีเทา แตกเป็นร่องตามยาว ใบรูปรีแกมรูปไข่กลับ ปลายใบเป็นติ่งแหลมสั้นชัด ด้านล่างมีจุดสีดำกระจายหนาแน่น ก้านใบยาว 2-3 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาว มีขนเล็กน้อย

Rhizophora stylosa ปกติเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูง 8-10 เมตร แต่อาจพบสูงได้ถึง 30 เมตร มีรากค้ำยันสูงถึง 3 เมตร ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก แผ่นใบรูปไข่กลับถึงรูปรี ยาว 6-14 เซนติเมตร กว้าง 3-8 เซนติเมตร ขนาดเล็กกว่า Rhizophora mucronata (โกงกางใบใหญ่) เกลี้ยง ด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอมเหลืองและมีจุดสีดำถึงสีแดงเรื่อๆกลีบดอกสีขาว ปลายกลีบมีขน ร่วงเร็ว ก้านชูเกสรเพศเมียยาว 0.4-0.6 เซนติเมตร ยาวกว่า R. mucronata (โกงกางใบใหญ่)คำระบุชนิดว่า “stylosa”หมายถึงลักษณะเด่นของก้านชูเกสรเพศเมียที่ค่อนข้างยาวเมื่อเทียบกับพรรณไม้ชนิดอื่นๆในสกุลเดียวกัน  ผลมักสั้นกว่าของ R. mucronata (โกงกางใบใหญ่) เมล็ดงอกตั้งแต่ผลยังติดอยู่กับต้นแม่ ฝักต้นอ่อนหล่นเมื่อมีขนาดยาว 20-50 เซนติเมตร ส่วนใหญ่มักยาวไม่เกิน 30 เซนติเมตร เนื้อไม้สีแดงเข้ม

Avicennia rumphiana เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง 30 เมตร โคนต้นมักมีพูพอน มีรากหายใจคล้ายหมุดจำนวนมาก ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก แผ่นใบรูปไข่ถึงรูปช้อน ด้านบนเกลี้ยง สีเขียว ด้านล่างสีเขียวอมเหลืองหรือออกสีน้ำตาลและมีขนปกคลุม ดอกขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ออกเป็นกลุ่มลักษณะค่อนข้างกลม กลีบดอกสีเหลืองอมส้ม มีขนปกคลุม ผลเป็นผลแห้งแตก รูปไข่ มีขนปกคลุม พบบ่อยที่ผิวผลย่น มี 1 เมล็ด

Lumnitzera rosea เป็นชื่อพ้องของ Lumnitzera racemosa (ฝาดดอกขาว) ลักษณะทั่วไปคล้าย L. littorea (ฝาดดอกแดง) ต่างกันที่ใบมีสีเขียวสดและอวบหนากว่าและมีดอกสีขาว เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูงถึง 8 เมตร ใบเรียงเวียนเป็นกระจุกอยู่ที่ปลายกิ่ง แผ่นใบรูปช้อนถึงรูปใบหอกกลับ หรือรูปไข่กลับ ด้านบนเกลี้ยง สีเขียวอ่อน ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว ผลรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 1-2 เซนติเมตร กว้าง 0.5-0.8 เซนติเมตร นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ

Aegialitis annulata เป็นไม้ต้นกึ่งไม้พุ่มผลัดใบ ขนาดเล็ก สูง 1-3 เมตร โคนต้นคล้ายกระบอง ใบเรียงเวียน แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง รูปไข่ถึงรูปรี หรือคล้ายๆสามเหลี่ยม ยาว 3-8.5 เซนติเมตร กว้าง 2-7 เซนติเมตร ก้านใบเป็นครีบ ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ดอกสีขาว ผลเป็นผลแห้งแตก รูปดาบ ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.2 เซนติเมตร มีสัน 5 สันตามยาวผล ผลสุกสีแดงเข้ม

Aegiceras majus เป็นชื่อพ้องของ A. corniculatum เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงถึง 7 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่กลับ ดอกออกเป็นช่อซี่ร่ม ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ผลโค้ง คล้ายรูปทรงกระบอกหรือคล้ายเขา ยาว 2-7.5 เซนติเมตร สีเขียวอ่อนถึงสีชมพู

Heritieraka nikensis เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูง 5-7 เมตร โคนต้นมักมีพูพอน ใบเรียงสลับถึงเรียงเวียน แผ่นใบรูปใบหอกแกมรูปรี ยาว 4-10 เซนติเมตร กว้าง 2-5 เซนติเมตร ด้านบนเกลี้ยง สีเขียว ด้านล่างมีมีเกล็ดสีเงินสะท้อนแสง ดอกแยกเพศ ขนาดเล็ก ผลค่อนข้างกลม ไม่มีหงอนที่ตอนปลายผลเหมือนที่พบใน Heritiera littoralis (หงอนไก่ทะเล)

Sonneratia apetala เป็นไม้ต้น ไม่ผลัดใบ ขนาดกลาง สูง 15-20 เมตร ปลายกิ่งห้อยลง จัดเป็นไม้เบิกนำในพื้นที่ดินเลนงอกใหม่และเป็นไม้โตเร็ว มีรากหายใจคล้ายหมุดยาวจำนวนมาก โผล่เหนือผิวดิน บางครั้งยาวได้ถึง 1.5 เมตร ใบเรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปใบหอก รูปรี รูปขอบขนาน ถึงรูปใบหอกกลับ เส้นใบไม่เด่นชัด ดอกมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ติดคงทนจนกระทั่งเป็นผล ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้จำนวนมาก สีครีม ก้านยอดเกสรเพศเมียโค้ง ยาว 2-3 เซนติเมตร ยอดเกสรเพสเมียขนาดใหญ่ มองเผินๆคล้ายร่มหรือดอกเห็ด  ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปร่างกลมแบน ขนาด 2-2.5 เซนติเมตร ปลายผลมีส่วนโคนของก้านยอดเกสรเพศเมียติดอยู่ เมล็ดรูปตัวยูในภาษาอังกฤษหรือรูปเคียว

Sonneratia x hainanensis เป็นลูกผสมของ Sonneratia alba (ลำพูทะเล) × S. ovata (ลำแพน) เป็นไม้ต้น ไม่ผลัดใบ ขนาดเล็ก สูง 4-8 เมตร ใบเรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปรีกว้าง หรือ เกือบกลม หายากที่เป็นรูปไข่กว้าง ยาว 6.5-8 เซนติเมตร กว้าง 6-8 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 6 กลีบ กลีบเลี้ยงด้านในสีแดง กลีบดอกสีขาว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปร่างกลมแบน ขนาด 5-6 เซนติเมตร เมล็ดจำนวนมาก มีสถานภาพการอนุรักษ์ซึ่งจัดโดย The IUCN Red List of Threatened Species เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (Critically Endangered species)

Kandelia obovata มีลักษณะทั่วไปคล้าย K. candel (รังกะแท้) ต่างกันที่แผ่นใบเป็นรูปไข่กลับถึงรูปรีแกมรูปไข่กลับ กลีบเลี้ยงเปลี่ยนเป็นสีขาวเมื่อดอกบาน และฝักต้นอ่อนมักสั้นกว่า เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูงถึง 3 เมตร ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก แผ่นใบรูปไข่กลับถึงรูปรีแกมรูปไข่กลับ หายากที่เป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ฝักต้นอ่อนหล่นเมื่อมีขนาดยาว15-20 เซนติเมตร หายากที่ยาวถึง 23 เซนติเมตร

ป่าชายเลน : ทวีปแอฟริกา

ทวีปแอฟริกา มีพื้นที่ป่าชายเลนรวม 32,400 ตารางกิโลเมตร หรือ 20,250,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 21.91 ของป่าชายเลนทั่วโลก พบในประเทศต่างๆ เช่น สาธารณรัฐเคนยา สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย สาธารณรัฐโมซัมบิก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เช่น สาธารณรัฐแกมเบีย สาธารณรัฐกินี สาธารณรัฐไลบีเรีย สาธารณรัฐกานา สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย สาธารณรัฐแคเมอรูน สาธารณรัฐกาบอง สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สาธารณรัฐแองโกลา เป็นต้น สำรวจพบพรรณไม้ป่าชายเลนแท้จริงทั้งสิ้น 10 ชนิด

พรรณไม้เด่น

Avicennia germinans เป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูงถึง 10 เมตร มีรากหายใจคล้ายหมุดจำนวนมาก โผล่เหนือผิวดิน ยาวถึง 20 เซนติเมตร ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก แผ่นใบรูปใบหอก สีเขียวแกมเหลืองอมสีเทาทึมๆ กลีบดอกสีขาวอมเหลือง มีขนปกคลุม ผลเป็นผลแห้งแตก เมล็ดงอกขณะที่ผลยังติดอยู่กับต้นแม่

Conocarpus erectus มีการกระจายพันธุ์ได้กว้างตามสังคมพืชชายฝั่ง ตั้งแต่เขตร้อนของอเมริกาถึงแอฟริกาตะวันตก เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น ไม่ผลัดใบ เรือนยอดแผ่กว้าง สูง 4-20 เมตร พืชชนิดนี้มี 2 รูปแบบ คือแบบที่มีใบสีเขียวปกติ และแบบที่ใบมีสีเงินซึ่งนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ

Laguncularia racemosa เป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูงถึง 12 เมตร เรือนยอดกลมหรือแผ่กว้างไม่เป็นระเบียบ มักมีรากหายใจคล้ายหมุด โผล่เหนือผิวดิน ใบเรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปรี โคนและปลายใบมนเกลี้ยง เส้นใบไม่เด่นชัด ก้านใบสีแดงเรื่อๆ และมีต่อม 2 ต่อม กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปไข่กลับหรือรูปรี มีร่องตามยาวผล บางครั้งเมล็ดงอกขณะที่ผลยังติดอยู่กับต้นแม่

Rhizophora mangle โดยทั่วไปแล้วเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูง 5-10 เมตร แต่อาจพบสูงได้ถึง 20-30 เมตร หรือมากกว่า และมีรากค้ำยันสูง 2-4.5 เมตร ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีหูใบร่วมหุ้มยอดอ่อนยาว 2.5-5 เซนติเมตร แผ่นใบรูปรี เกลี้ยง ด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอมเหลือง ขอบใบม้วนลงด้านล่างเล็กน้อย กลีบดอกสีเหลืองซีด มีกลิ่นหอมเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลางดอกบานประมาณ 2 เซนติเมตร ผลรูปกรวย สีน้ำตาลดำ ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงติดคงทน เมล็ดงอกตั้งแต่ผลยังติดอยู่กับต้นแม่ ฝักต้นอ่อนหล่นเมื่อมีขนาดยาว 20-30 เซนติเมตร

Rhizophora racemosa มีลักษณะใกล้เคียงกับRhizophora mangle ต่างกันตรงที่ช่อดอกของ R. racemosa มักมี 32-64(-128) ดอกย่อย ในขณะที่ของ R. mangle มีเพียง (2)3(4) ดอกย่อย

Ceriops somalensis เป็นชื่อพ้องของ Ceriops tagal (โปรงแดง) เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูง 2-15 เมตร บางครั้งสูงได้ถึง 20 เมตร มีพูพอนขนาดเล็กที่โคนต้นจำนวนมาก บางครั้งมีรากค้ำยัน มักมีรากหายใจรูปหัวเข่า ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีหูใบร่วมหุ้มยอดอ่อนลักษณะแบน ยาว 1-2 เซนติเมตร แผ่นใบรูปไข่กลับถึงรูปรี ปลายใบมนถึงเว้าบุ๋ม โคนใบแหลม เกลี้ยง กลีบดอกสีขาว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ปลายกลีบมีรยางค์รูปกระบอง 3-4 อัน เมล็ดงอกตั้งแต่ผลยังติดอยู่กับต้นแม่ ฝักต้นอ่อนหล่นเมื่อมีขนาดยาว 15-30 เซนติเมตร มีสันตามยาว

ป่าชายเลน : ทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง

ทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง มีพื้นที่ป่าชายเลนรวม 25,710 ตารางกิโลเมตร หรือ 16,068,750 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 17.39 ของป่าชายเลนทั่วโลก พบในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหรัฐเม็กซิโก สาธารณรัฐคิวบา สาธารณรัฐโดมินิกัน จาเมกา สาธารณรัฐกัวเตมาลา สาธารณรัฐฮอนดูรัส สาธารณรัฐเอลซัลวาดอร์ สาธารณรัฐปานามา เป็นต้น สำรวจพบพรรณไม้ป่าชายเลนแท้จริงทั้งสิ้น 10 ชนิด

พรรณไม้เด่น

Avicennia germinans เป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูงถึง 10 เมตร มีรากหายใจคล้ายหมุดจำนวนมาก โผล่เหนือผิวดิน ยาวถึง 20 เซนติเมตร ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก แผ่นใบรูปใบหอก สีเขียวแกมเหลืองอมสีเทาทึมๆ กลีบดอกสีขาวอมเหลือง มีขนปกคลุม ผลเป็นผลแห้งแตก เมล็ดงอกขณะที่ผลยังติดอยู่กับต้นแม่

Avicennia bicolor เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูงถึง 15 เมตร พบในบริเวณปากแม่น้ำที่มีการขึ้นลงของน้ำสูง เป็นชนิดที่มีความทนทานต่อน้ำเค็มจัด มีสถานภาพการอนุรักษ์ซึ่งจัดโดยThe IUCN Red List of Threatened Speciesเป็น สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (Vulnerable species)

Rhizophora mangle โดยทั่วไปแล้วเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูง 5-10 เมตร แต่อาจพบสูงได้ถึง 20-30 เมตร หรือมากกว่า และมีรากค้ำยันสูง 2-4.5 เมตร ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีหูใบร่วมหุ้มยอดอ่อนยาว 2.5-5 เซนติเมตร แผ่นใบรูปรี เกลี้ยง ด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอมเหลือง ขอบใบม้วนลงด้านล่างเล็กน้อย กลีบดอกสีเหลืองซีด มีกลิ่นหอมเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลางดอกบานประมาณ 2 เซนติเมตร ผลรูปกรวย สีน้ำตาลดำ ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงติดคงทน เมล็ดงอกตั้งแต่ผลยังติดอยู่กับต้นแม่ ฝักต้นอ่อนหล่นเมื่อมีขนาดยาว 20-30 เซนติเมตร

Conocarpus erectus มีการกระจายพันธุ์ได้กว้างตามสังคมพืชชายฝั่ง ตั้งแต่เขตร้อนของอเมริกาถึงแอฟริกาตะวันตก เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น ไม่ผลัดใบ เรือนยอดแผ่กว้าง สูง 4-20 เมตร พืชชนิดนี้มี 2 รูปแบบ คือแบบที่มีใบสีเขียวปกติ และแบบที่ใบมีสีเงินซึ่งนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ

ป่าชายเลน : ทวีปอเมริกาใต้

ทวีปอเมริกาใต้ มีพื้นที่ป่าชายเลนรวม 21,300 ตารางกิโลเมตร หรือ 13,312,500 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 14.41 ของป่าชายเลนทั่วโลก พบในประเทศต่างๆ เช่น สาธารณรัฐโคลอมเบีย สาธารณรัฐเอกวาดอร์สาธารณรัฐโบลีวาร์แห่งเวเนซุเอลา สาธารณรัฐสหกรณ์กายอานา สาธารณรัฐซูรินาม สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล เป็นต้น สำรวจพบพรรณไม้ป่าชายเลนแท้จริงทั้งสิ้น 11 ชนิด

พรรณไม้เด่น

Avicennia germinans เป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูงถึง 10 เมตร มีรากหายใจคล้ายหมุดจำนวนมาก โผล่เหนือผิวดิน ยาวถึง 20 เซนติเมตร ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก แผ่นใบรูปใบหอก สีเขียวแกมเหลืองอมสีเทาทึมๆกลีบดอกสีขาวอมเหลือง มีขนปกคลุม ผลเป็นผลแห้งแตก เมล็ดงอกขณะที่ผลยังติดอยู่กับต้นแม่

Avicennia bicolor เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูงถึง 15 เมตร พบในบริเวณปากแม่น้ำที่มีการขึ้นลงของน้ำสูง เป็นชนิดที่มีความทนทานต่อน้ำเค็มจัด มีสถานภาพการอนุรักษ์ซึ่งจัดโดย The IUCN Red List of Threatened Species เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (Vulnerable species)

Rhizophora mangle โดยทั่วไปแล้วเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูง 5-10 เมตร แต่อาจพบสูงได้ถึง 20-30 เมตร หรือมากกว่า และมีรากค้ำยันสูง 2-4.5 เมตร ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีหูใบร่วมหุ้มยอดอ่อนยาว 2.5-5 เซนติเมตร แผ่นใบรูปรี เกลี้ยง ด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอมเหลือง ขอบใบม้วนลงด้านล่างเล็กน้อย กลีบดอกสีเหลืองซีด มีกลิ่นหอมเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลางดอกบานประมาณ 2 เซนติเมตร ผลรูปกรวย สีน้ำตาลดำ ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงติดคงทน เมล็ดงอกตั้งแต่ผลยังติดอยู่กับต้นแม่ ฝักต้นอ่อนหล่นเมื่อมีขนาดยาว 20-30 เซนติเมตร

Rhizophora racemosa มีลักษณะใกล้เคียงกับ Rhizophora mangle ต่างกันตรงที่ช่อดอกของ R. racemosa มักมี 32-64 (-128) ดอกย่อย ในขณะที่ของ R. mangle มีเพียง (2)3(4) ดอกย่อย

Conocarpus erectus มีการกระจายพันธุ์ได้กว้างตามสังคมพืชชายฝั่ง ตั้งแต่เขตร้อนของอเมริกาถึงแอฟริกาตะวันตก เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น ไม่ผลัดใบ เรือนยอดแผ่กว้าง สูง 4-20 เมตร พืชชนิดนี้มี 2 รูปแบบ คือแบบที่มีใบสีเขียวปกติ และแบบที่ใบมีสีเงินซึ่งนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ

ป่าชายเลน : ทวีปโอเชียเนีย

ทวีปโอเชียเนีย มีพื้นที่ป่าชายเลนรวม 12,980 ตารางกิโลเมตร หรือ 8,112,500 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8.78 ของป่าชายเลนทั่วโลก พบในประเทศต่างๆ เช่น เครือรัฐออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์ รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน สาธารณรัฐฟิจิเป็นต้น สำรวจพบพรรณไม้ป่าชายเลนแท้จริงทั้งสิ้น 43 ชนิด

พรรณไม้เด่น

Ceriops australis มีลักษณะใกล้เคียงกับ C. tagal (โปรงแดง) ต่างกันตรงที่ผิวของฝักต้นอ่อนเรียบ ไม่เป็นสัน เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูงถึง 10 เมตร แผ่นใบรูปไข่กลับถึงรูปรีแกมรูปไข่กลับ ยาว 5-10 เซนติเมตร กว้าง 2-4 เซนติเมตร ปลายใบมน ก้านใบยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาวครีม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เมล็ดงอกตั้งแต่ผลยังติดอยู่กับต้นแม่ ฝักต้นอ่อนยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร ผิวเรียบ

Avicennia rumphiana เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง 30 เมตร โคนต้นมักมีพูพอน มีรากหายใจคล้ายหมุดจำนวนมาก ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก แผ่นใบรูปไข่ถึงรูปช้อน ด้านบนเกลี้ยง สีเขียว ด้านล่างสีเขียวอมเหลืองหรือออกสีน้ำตาลและมีขนปกคลุม ดอกขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ออกเป็นกลุ่มลักษณะค่อนข้างกลม กลีบดอกสีเหลืองอมส้ม มีขนปกคลุม ผลเป็นผลแห้งแตก รูปไข่ มีขนปกคลุม พบบ่อยที่ผิวผลย่น มี 1 เมล็ด

Lumnitzera rosea เป็นชื่อพ้องของ Lumnitzera racemosa (ฝาดดอกขาว) ลักษณะทั่วไปคล้าย L. littorea (ฝาดดอกแดง) ต่างกันที่ใบมีสีเขียวสดและอวบหนากว่าและมีดอกสีขาว เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูงถึง 8 เมตร ใบเรียงเวียนเป็นกระจุกอยู่ที่ปลายกิ่ง แผ่นใบรูปช้อนถึงรูปใบหอกกลับ หรือรูปไข่กลับ ด้านบนเกลี้ยง สีเขียวอ่อน ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว ผลรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 1-2 เซนติเมตร กว้าง 0.5-0.8 เซนติเมตร นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ

Rhizophora stylosa ปกติเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูง 8-10 เมตร แต่อาจพบสูงได้ถึง 30 เมตร มีรากค้ำยันสูงถึง 3 เมตร ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก แผ่นใบรูปไข่กลับถึงรูปรี ยาว 6-14 เซนติเมตร กว้าง 3-8 เซนติเมตร ขนาดเล็กกว่า Rhizophora mucronata (โกงกางใบใหญ่) เกลี้ยง ด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอมเหลืองและมีจุดสีดำถึงสีแดงเรื่อๆ กลีบดอกสีขาว ปลายกลีบมีขน ร่วงเร็ว ก้านชูเกสรเพศเมียยาว 0.4-0.6 เซนติเมตร ยาวกว่า R. mucronata (โกงกางใบใหญ่) คำระบุชนิดว่า “stylosa”หมายถึงลักษณะเด่นของก้านชูเกสรเพศเมียที่ค่อนข้างยาวเมื่อเทียบกับพรรณไม้ชนิดอื่นๆในสกุลเดียวกัน ผลมักสั้นกว่าของ R. mucronata (โกงกางใบใหญ่) เมล็ดงอกตั้งแต่ผลยังติดอยู่กับต้นแม่ ฝักต้นอ่อนหล่นเมื่อมีขนาดยาว 20-50 เซนติเมตร ส่วนใหญ่มักยาวไม่เกิน 30 เซนติเมตร เนื้อไม้สีแดงเข้ม

Rhizophora x lamarkii เป็นลูกผสมของ Rhizophora apiculata (โกงกางใบเล็ก) และ R. stylosa เป็นไม้ต้น สูงถึง 25 เมตร เปลือกสีเทา แตกเป็นร่องตามยาว ใบรูปรีแกมรูปไข่กลับ ปลายใบเป็นติ่งแหลมสั้นชัด ด้านล่างมีจุดสีดำกระจายหนาแน่น ก้านใบยาว 2-3 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาว มีขนเล็กน้อย


อ้างอิง:

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (2556). ภาวะคุกคามต่อระบบนิเวศป่าชายเลน. ค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://km.dmcr.go.th/th/c_11/d_1266

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. องค์ความรู้ป่าชายเลนโลก. ค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2564, จาก http://projects.dmcr.go.th/miniprojects/115/27003

สรายุทธ บุณยะเวชชีวิน และรุ่งสุริยา บัวสาลี. (2554). ป่าชายเลน: นิเวศวิทยาและพรรณไม้. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพมหานคร. บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)

สนิท อักษรแก้ว. (2550). ป่าชายเลน....ขุมทรัพย์เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนชายฝั่งทะเล. วารสารการจัดการป่าไม้, 1(1), 1-13.

สมศักดิ์ สุนทรนวพัฒน์. (2551). แนวทางการฟื้นฟูป่าชายเลนโดยชุมชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์