ข่าวประชาสัมพันธ์

ป่าชายเลนไทย

จากการสำรวจพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2504 พบว่า มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 2,299,375 ไร่ ในระยะ 30 ปีต่อมา พื้นที่ป่าชายเลนได้ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยในปี พ.ศ. 2534 จากการแปลภาพดาวเทียม Landsat 4 และ 5 มาตราส่วน 1: 250,000 ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พบว่า พื้นที่ป่าชายเลนคงเหลือเพียง 1,086,381 ไร่ ลดลงถึง 1,212,994 ไร่ และในปี พ.ศ. 2539 จากการแปลภาพดาวเทียม Landsat 5 มาตราส่วน 1: 50,000 ดำเนินการโดยกรมป่าไม้ พบว่า มีพื้นที่ป่าชายเลน 1,047,390 ไร่ ลดลงถึง 1,251,985 ไร่ เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2504 (สนิท อักษรแก้ว, 2550)

สาเหตุของการลดลงของเนื้อที่ป่าชายเลนในประเทศไทยนั้น เนื่องมาจากการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เพื่อตัดไม้มาทำฟืนและถ่านในเชิงพาณิชย์ การทำเหมืองแร่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำนาเกลือ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม สิ่งก่อสร้าง และรวมทั้งการให้สัมปทานทำถ่านของรัฐในอดีตด้วย รวมถึงปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายพื้นที่ทำกิน การใช้พื้นที่ป่าชายเลนสำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการเข้าครอบครองในรูปแบบต่าง ๆ นับว่ายังเป็นปัจจัยหลักในการทำลายป่าชายเลนในประเทศไทย (สมศักดิ์, 2551)

แต่หลังจากปี พ.ศ. 2539 พื้นที่ป่าชายเลนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายการฟื้นฟูป่าชายเลน เช่น การปลูกป่าทดแทน และการลดการบุกรุกทำลายป่า ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2543 จากการแปลจากภาพดาวเทียม Landsat 5 มาตราส่วน 1: 50,000 ดำเนินการโดยกรมป่าไม้ พบว่า มีพื้นที่ป่าชายเลน 1,579,780.77 ไร่ เพิ่มขึ้น 532,390.77 ไร่ เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2539

ในปี พ.ศ. 2557 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สำรวจพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลนในประเทศไทย จากการแปลจากภาพดาวเทียม Landsat 8 มาตราส่วน 1: 50,000 ครอบคลุม 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล พบว่า มีการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลนรวม 2,869,489.15 ไร่ จำแนกเป็น พื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพ 1,534,584.74 ไร่ และพื้นที่เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ อาทิ พื้นที่เกษตรกรรม เมืองและสิ่งก่อสร้าง ที่อยู่อาศัย เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 1,334,904.41 ไร่

ในปี พ.ศ. 2563 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้สำรวจพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลนในประเทศไทย ด้วยภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงปี 2562 (Thaichote, Pleiades, Planet, ZiYuan-3, Spot-7, Geo-Eye, Gaofen) ครอบคลุมพื้นที่ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล มีการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลนรวม 3,041,708.25 ไร่ จำแนกเป็น พื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพ 1,737,019.91 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2557 จำนวน 202,435.17 ไร่  และพื้นที่เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ อาทิ พื้นที่เกษตรกรรม เมืองและสิ่งก่อสร้าง ที่อยู่อาศัย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 1,304,688.34 ไร่

ตารางแสดงพื้นที่ป่าชายเลน จำแนกรายปี

การกระจายตัวของป่าชายเลนในประเทศไทย

ในประเทศไทยพบการกระจายตัวของป่าชายเลนในแต่ละภาค ดังนี้

ภาคกลาง จังหวัดที่พบป่าชายเลน ได้แก่ บริเวณที่ติดกับชายฝั่งทะเลของจังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

ภาคตะวันออก ป่าชายเลนแพร่กระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลของจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และฉะเชิงเทรา

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก หรือฝั่งทะเลอันดามัน เกิดเป็นแนวยาวติดต่อกัน ในเขตจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก หรือด้านอ่าวไทย จะพบตามปากน้ำและลำน้ำใหญ่ ๆ ในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี

ตารางแสดงพื้นที่ป่าชายเลนปี พ.ศ. 2563 จำแนกรายจังหวัด

ประเภทของป่าชายเลนในประเทศไทย

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แบ่งประเภทของป่าชายเลนที่พบแพร่กระจายในประเทศไทย โดยสามารถแบ่งตามลักษณะกายภาพของพื้นที่และการท่วมถึงของน้ำทะเลมี 4 ชนิด คือ

Basin forest

เป็นชนิดป่าชายเลนที่ขึ้นติดกับผืนแผ่นดินใหญ่ (main land) ตามลำแม่น้ำเล็กๆ จะได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลน้อยมาก กล่าวคือ น้ำทะเลจะท่วมถึงเฉพาะเวลาที่มีน้ำทะเลขึ้นสูงสุด (extreme high tide) เท่านั้น และมีอิทธิพลจากน้ำจืดมาก ลักษณะพันธุ์ไม้จะเป็นต้นเตี้ยและพวกเถาวัลย์

Riverine forest

เป็นชนิดป่าชายเลนที่ขึ้นอยู่บริเวณชายฝั่งแม่น้ำใหญ่ ๆ ที่ติดต่อกับอ่าว ทะเล และทะเลสาบ ป่าประเภทนี้ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลอยู่อย่างสม่ำเสมอ คือจะมีกระแสน้ำท่วมอยู่เป็นประจำวัน โดยพันธุ์ไม้จะเจริญเติบโตค่อนข้างสมบูรณ์ดี

Fringe forest

เป็นชนิดป่าชายเลนที่ขึ้นตามชายฝั่งทะเลติดกับผืนแผ่นดินใหญ่ หรือบริเวณชายฝั่งที่เป็นเกาะใหญ่ๆ ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลอยู่สม่ำเสมอ คือน้ำทะเลจะท่วมถึงอยู่เป็นประจำวัน พันธุ์ไม้ของป่าจะเจริญเติบโตได้ดี และเป็นป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์

Overwash forest

เป็นชนิดป่าชายเลนที่ขึ้นอยู่บนเกาะเล็ก ๆ จะถูกน้ำทะเลท่วมทั้งหมดเมื่อระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด การเจริญเติบโตของป่าชนิดนี้ต่ำ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมและน้ำทะเลมาก อีกประการหนึ่งคือ พวกปุ๋ยและธาตุอาหารในป่าชนิดนี้จะถูกชะไปโดยกระแสน้ำออกจากป่าเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การเจริญเติบโตของป่าชนิดนี้ไม่ดีและป่าจะมีลักษณะเตี้ย


อ้างอิง:

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (2556). ภาวะคุกคามต่อระบบนิเวศป่าชายเลน. ค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://km.dmcr.go.th/th/c_11/d_1266

กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน. (2564). รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำระบบฐานข้อมูลทรัพยากรป่าชายเลน โดยการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลนด้วยภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง (ปีงบประมาณ 2563). กรุงเทพมหานคร

สรายุทธ บุณยะเวชชีวิน และรุ่งสุริยา บัวสาลี. (2554). ป่าชายเลน: นิเวศวิทยาและพรรณไม้. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพมหานคร. บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)

สนิท อักษรแก้ว. (2550). ป่าชายเลน....ขุมทรัพย์เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนชายฝั่งทะเล. วารสารการจัดการป่าไม้, 1(1), 1-13.

สมศักดิ์ สุนทรนวพัฒน์. (2551). แนวทางการฟื้นฟูป่าชายเลนโดยชุมชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์