ป่าชายเลน เป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญและประโยชน์อย่างยิ่งในหลายด้าน ในพื้นที่ป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์จะเป็นแหล่งรวมของพันธุ์พืชและสัตว์ชนิดต่างๆ ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำนานาชนิด และมีความสำคัญต่อการดำรงชีพของมนุษย์ที่อาศัยอยู่โดยรอบ ทั้งในเขตป่าชายเลนและตามแนวชายฝั่งทะเลหลายรูปแบบ ซึ่งมีคุณค่าในด้านต่างๆ ได้แก่ ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู และปลา ที่มีหลากหลายชนิด สามารถนำมารับประทานและขายเป็นรายได้ตลอดทั้งปี ในด้านป่าไม้นั้น ไม้ในป่าชายเลนนำมาใช้ประโยชน์ในลักษณะต่าง ๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น ทำฟืน ถ่าน ไม้ก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เสาเข็ม ไม้ค้ำยัน แพปลา และอุปกรณ์การประมง เป็นต้น (กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม, 2551)
ป่าชายเลนยังคอยเกื้อหนุนต่อทรัพยากรทางทะเล เช่น เป็นต้นกำเนิดของห่วงโซ่อาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำ อันได้แก่ เมื่ออินทรียวัตถุที่ย่อยสลายจากซากพืชหรือเศษใบไม้ ส่วนใหญ่ได้จากใบของพืชที่ร่วงหล่น นอกจากนี้ยังได้จากส่วนของ กิ่ง ก้าน ดอก และผลอีกด้วย ส่วนแหล่งอาหารอื่นๆ ในบริเวณปากแม่น้ำ ส่วนใหญ่เป็นสารอินทรีย์ที่ละลายน้ำ เช่น กรดอะมิโน ที่มีความสำคัญต่อสัตว์น้ำ และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย วางไข่ หาอาหาร และแหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำชนิดต่างๆ โดยเฉพาะปู กุ้ง ปลา และหอย ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ รวมทั้งสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ปลาทะเลหลายชนิดวางไข่ในพื้นที่ป่าชายเลย และอาศัยเจริญเติบโตในระยะแรก เมื่อเจริญเติบโตแข็งแรงดีแล้วจึงออกสู่ทะเล (พูลศรี และคณะ, 2556)
ป่าชายเลนยังทำหน้าที่เสมือนเขื่อนป้องกันคลื่นลมจากทะเล เป็นแนวกำบังภัยธรรมชาติ ช่วยป้องกันการพังทลายชายฝั่งจากคลื่นลม และทำหน้าที่รักษาสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่งป้องกันความรุนแรงของพายุและสามารถซ่อมแซมตนเองได้เมื่อได้รับความเสียหายจากพายุ งานศึกษาจำนวนมากสนับสนุนความสำคัญของป่าชายเลนในการเป็นแนวป้องกันชายฝั่งทะเลตามธรรมชาติ ด้วยความซับซ้อนและหนาแน่นของระบบรากและลำต้น คลื่นลมหรือคลื่นพายุต่างๆ ที่พัดผ่านเข้ามาในพื้นที่ป่าชายเลนจะถูกสลายพลังงานลงเนื่องจากแรงลากที่รากและลำต้น ในขณะที่กิ่ง ก้าน และใบไม้ของต้นไม้ป่าชายเลนเป็นแนวกำลังลมที่เป็นกำลังเสริมของคลื่นน้ำต่างๆ ได้เป็นอย่างดี (ธรรมนูญ, 2559) และในขณะเดียวกันป่าชายเลนยังทำหน้าที่ป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ รากของต้นไม้ในป่าชายเลนที่งอกออกมาเหนือพื้นดิน เช่น รากหายใจ และรากค้ำยันจะทำหน้าที่คล้ายตะแกรงตามธรรมชาติคอยกลั่นกรองสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่มากับกระแสน้ำ ดักกรองสารปฏิกูลและสารมลพิษต่าง ๆ จากบนโลกไม่ให้ลงสู่ทะเล นอกจากนี้ขยะและคราบน้ำมันต่าง ๆ จะถูกกรองไว้ในป่าชายเลน
ความสำคัญและคุณค่าของป่าชายเลน สามารถสรุปได้ ดังนี้
ด้านสิ่งแวดล้อม
1. ป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย หลบภัย สืบพันธุ์และเจริญเติบโตของสัตว์น้ำนานาชนิด
2. ป่าชายเลนช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ
3. ป่าชายเลนช่วยลดความรุนแรงของคลื่นลมและป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่งทะเล
4. ป่าชายเลนเป็นพื้นที่สำหรับดูดซับสิ่งปฏิกูล กรองของเสียจากฝั่งกอนไหลลงสู่ทะเล
5. ป่าชายเลนช่วยในการตกตะกอนแนวชายฝั่ง
6. ป่าชายเลนช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่งและใกล้เคียง โดยเฉพาะหญ้าทะเลและปะการัง
ด้านเศรษฐกิจ
1. ป่าชายเลนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ
2. ป่าชายเลนเป็นแหล่งพลังงานและแหล่งวัตถุดิบ ไม้ใช้สอย, ก่อสร้างในครัวเรือน
3. ไม้ป่าชายเลนบางชนิดสามารถนำไปสกัดได้สารเคมีที่เป็นประโยชน์
ด้านสังคม
1. ชุมชนชายฝั่งมีวิถีชีวิตและภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนในแง่ของพืชอาหารและพืชสมุนไพร
2. ป่าชายเลนเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและแหล่งศึกษาธรรมชาติ
อ้างอิง:
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (2556). คู่มือความรู้เรื่องป่าชายเลน. บริษัท พลอยมีเดีย จำกัด, กรุงเทพฯ.
กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม. (2551). คู่มือการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพมหานคร: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
พูลศรี วันธงไชย, วรวุฒิ พิทักษ์สันติกูล, นวพร สุญาณเศรษฐกร, ปวีณา เชื้อผู้ดี. (2556). คู่มือความรู้เรื่องป่าชายเลน พิมพ์ครั้งที่ 5. นนทบุรี: บริษัท พลอยมีเดีย จำกัด.
ธรรมนูญ รัศมีมาสเมือง. (2559). การศึกษาผลกระทบของปัจจัยทางอุทกพลศาสตร์ต่อการลดทอนคลื่นในป่าชายเลน. โครงการวิจัยประเภทงบประมาณเงินรายได้จากเงินอุดหนุนจากรัฐบาล (งบประมาณแผ่นดิน) มหาวิทยาลัยบูรพา
สมศักดิ์ สุนทรนวพัฒน์. (2551). แนวทางการฟื้นฟูป่าชายเลนโดยชุมชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์
สนิท อักษรแก้ว. (2542). ป่าชายเลน...นิเวศวิทยาและการจัดการ. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.