ข่าวประชาสัมพันธ์

ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชายเลน

ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity)
หมายถึง ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตจากทุกแหล่งครอบคลุมทั้งบนพื้นดิน (terrestrial) ทางทะเล (marine) และระบบนิเวศแหล่งน้ำอื่นๆ รวมทั้งระบบนิเวศที่มีความหลากหลายซับซ้อนที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบ

ความหลากหลายทางชีวภาพดังกล่าวครอบคลุมทั้งความหลากหลายทางพันธุกรรม (genetic diversity) ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ (species diversity) และความหลากหลายทางระบบนิเวศ (ecosystem diversity)

ความหลากหลายทางพันธุกรรม (genetic diversity)
หมายถึง ความหลากหลายของยีนที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด สิ่งมีชีวิตเดียวกัน อาจมียีนแตกต่างกันตามสายพันธุ์ เช่น ข้าวมีสายพันธุ์นับพันชนิด มันฝรั่ง หรือพืชอาหารชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด มัน พริก มีมากมายหลายสายพันธุ์ ความหลากหลายของพันธุกรรมมีน้อยในพืชเกษตรลูกผสม ความหลากหลายของยีนมีคุณค่ามหาศาล นักผสมพันธุ์พืชได้นำสายพันธุ์พืชป่ามาปรับปรุง เพื่อเพิ่มผลผลิตและต้านทานศัตรูพืช

ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ (species diversity)
ความหลากหลายชนิดของสิ่งมีชีวิต (species) ที่มีอยู่ในพื้นที่หนึ่ง มีความหมาย 2 ลักษณะ คือ ความมากชนิด (species richness) หมายความถึง จำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตต่อหน่วยเนื้อที่ กับความสม่ำเสมอของชนิด (species evenness) หมายถึง สัดส่วนของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่มีอยู่ มีการประมาณการว่าสิ่งมีชีวิตในโลกนี้มีอยู่ประมาณ 5-10 ชนิด

ความหลากหลายทางระบบนิเวศ (ecosystem diversity)
สิ่งมีชีวิตบนโลกไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ต้องพึ่งพิงสิ่งอื่น ๆ เสมอ เช่น พืชมีดอกต้องอาศัยแมลงในการผสมพันธุ์ สัตว์กินพืชต้องอาศัยพืชเป็นอาหาร การอยู่ร่วมกันและพึ่งพิงกันเช่นนี้ก่อให้เกิดระบบนิเวศต่างๆ ในโลก เช่น ระบบนิเวศของป่าดิบชื้น ระบบนิเวศของป่าเบญจพรรณ ป่าพรุ ป่าชายเลน เป็นต้น

ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าชายเลน

ป่าชายเลนเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อระหว่าง “บก” กับ “ทะเล” เป็นรอยต่อระหว่าง “น้ำจืด” และ “น้ำเค็ม” จึงเป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อน มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งทางพันธุกรรม (genetic) และชนิดพันธุ์ (species) ป่าชายเลนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ เป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์ไม้และสัตว์ต่างๆ รวมทั้งสาหร่าย และจุลินทรีย์หลากหลายชนิด โดยมีปริมาณสัดส่วนและการกระจายแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ในแต่ละท้องถิ่น

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยกองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ส่วนวิจัยทรัพยากรป่าชายเลน ได้สำรวจพบชนิดพันธุ์ไม้ป่าชายเลน จำนวน 96 ชนิด ประกอบด้วย

พันธุ์ไม้ป่าชายเลนแท้จริง (True Mangrove Species) 41 ชนิด ซึ่งอยู่เฉพาะบริเวณที่เป็นน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย เช่น

พันธุ์ไม้ในสกุลโกงกาง (Rhizophora) เช่น โกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculata Blume) โกงกางใบใหญ่ (Rhizophora mucronata Lam.) ถั่วขาว (Bruguiera cylindrica (L.) Blume) พังกาหัวสุมดอกแดง (Bruguiera gymnorrhiza (L.) Savigny.) โปรงแดง (Ceriops tagal (Perr.) C. B. Rob.) เป็นต้น

พันธุ์ไม้ในสกุลแสม (Avicennia) เช่น แสมขาว (Avicennia alba Blume) แสมดำ (Avicennia officinalis L.) แสมทะเล (Avicennia marina (Forssk.) Vierh)

พันธุ์ไม้ในสกุลตะบูน (Xylocarpus) เช่น ตะบูนขาว (Xylocarpus granatum J. Koenig) ตะบูนดำ (Xylocarpus moluccensis (Lam.) M. Roem.)

นอกจากนี้ ยังพบต้นลำพู (Sonneratia caseolaris (L.) Engl.) เหงือกปลาหมอดอกม่วง (Acanthus ilicifolius L.) อีกด้วย

ส่วนที่เหลือเป็นพันธุ์ไม้ป่าชายเลนไม่แท้จริง (Mangrove Associate Species) 55 ชนิด เป็นพันธุ์ไม้ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพความเค็ม (Mangrove Associated Species) ขึ้นอยู่ได้ในที่ซึ่งมีน้ำทะเลท่วมถึงเป็นครั้งคราว หรือดินที่ความเค็มน้อย เช่น

ตีนเป็ดทะเล (Cerbera odollam Gaertn.) ปรงทะเล (Acrostichum aureum L.) เตยทะเล (Pandanus odorifer (Forssk.) Kuntze) หูกวาง (Terminalia catappa L.) หยีน้ำ (Millettia pinnata (L.) Panigrahi) หลุมพอทะเล (Intsia bijuga (Colebr.) Kuntze) จิกทะเล (Barringtonia asiatica (L.) Kurz) เป็นต้น

สัตว์ที่พบในป่าชายเลน ได้แก่

กุ้ง ประมาณ 15 ชนิด เช่น กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย กุ้งก้ามกราม กุ้งดีดขัน เป็นต้น ปลา ประมาณ 45 ชนิด เช่น ปลากะพงขาว ปลากระบอก ปลานวลจันทร์ทะเล ปลาตะกรับ ปลาตีน เป็นต้น ปู ประมาณ 30 ชนิด เช่น ปูแสม ปูก้ามดาบ ปูทะเล ปูม้า เป็นต้น หอย ประกอบด้วย หอยฝาเดียว ประมาณ 22 ชนิด หอยสองฝา ประมาณ 4 ชนิด เช่น หอยนางรม หอยแครง หอยปากเป็ด หอยจุ๊บแจง หอยมะระ เป็นต้น นก ประมาณ 88 ชนิด เช่น นกยาง นกหัวโต นกแอ่น นกกระจิบ เหยี่ยวแดง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประมาณ 35 ชนิด เช่น ลิงแสม นาก แมวป่า ค้างคาว เป็นต้น นอกจากนี้ ในป่าชายเลนยังพบสัตว์เลื้อยคลานและแมลงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าชายเลนถือได้ว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในระบบนิเวศ ทั้งประโยชน์จากการใช้งานโดยตรงและประโยชน์ทางอ้อม เนื่องจากป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทั้งด้านพันธุ์ไม้และสัตว์ รวมถึงเป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค ทรัพยากรป่าไม้ แหล่งอนุบาลและหลบภัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งมีผลต่อการประมงที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ (Sathirathai and Barbier, 2001;Upadhyay et al., 2002; Cannicci et al., 2008;Kathiresan,2012; Neamsuvanet al.,2012) ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้ทำให้โลกมีความสมดุลและทำให้ระบบนิเวศสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี


 

อ้างอิง:

กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน. (2563). พันธุ์ไม้ป่าชายเลน. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, กรุงเทพฯ.

Cannicci, S., Burrows, D., Frantini, S., Smith, T.J., Offenberg, J. and Dahdouh-Guebas, F. (2008). Faunal impact on vegetation structure and ecosystem function in mangrove forests: A review. Aquatic Botany, 89: 186-200.

Kathiresan, K. (2012). Importance of Mangrove Ecosystem. International Journal of Marine Science, 2(10): 70-89.

Neamsuvan, O., Singdam, P., Yingcharoen, K. and Sengnon, N. (2012). A survey of medicinal plants in mangrove and beach forests from Sating Phra Peninsula, Songkhla Province, Thailand. Journal of Medicinal Plants Research, 6(12): 2421-2437.

Sathirathai, S. and Barbier, E. (2001). Valuing Mangrove conservation in southern Thailand. Contemporary Economic Policy, 19(2): 109-122.

Upadhyay, V.P., Ranjan, R. and Singh, J.D. (2002). Human-mangrove conflicts: The way out. Current Sciences, 83(11): 1329-1338.