ข่าวประชาสัมพันธ์

ห่วงโซ่อาหารในป่าชายเลน

“ป่าชายเลน” เป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อน ประกอบด้วยพืชและสัตว์ที่แตกต่างกันหลายชนิด เชื่อมโยงกันในเรื่องของ “ความสัมพันธ์ในลำดับขั้นการกินอาหาร” โดยสิ่งมีชีวิตหนึ่งจะกินสิ่งมีชีวิตอีกชนิดเป็นอาหาร หรือถูกกินโดยสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในระบบนิเวศ เกิดการถ่ายทอดพลังงานไปตามลำดับขั้นของการกินอาหาร

เราสามารถแบ่งสิ่งมีชีวิตตามหน้าที่ในระบบนิเวศออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. ผู้ผลิต ได้แก่ สิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างอาหารขึ้นมาเองได้ โดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง ได้แก่ พืชพันธุ์ไม้ต่างๆ ในป่าชายเลน รวมไปถึงไดอะตอม (สาหร่ายเซลล์เดียว) แพลงตอนพืช และสาหร่าย ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตในระบบนิเวศ

2. ผู้บริโภค ได้แก่ สิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ต้องอาศัยการกินอาหารเพื่อให้ได้พลังงาน ได้แก่ พวกสัตว์หน้าดินขนาดเล็ก เช่น แพลงตอนสัตว์ ปู ไส้เดือนทะเล และสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น ปลา กุ้ง ปู รวมไปถึง นก สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งบางชนิดเป็นพวกกินอินทรีย์สาร บางชนิดเป็นพวกกินพืช บางชนิดเป็นพวกกินสัตว์ และบางชนิดเป็นพวกกินทั้งพืชและสัตว์ สัตว์ชนิดต่างๆในระบบนิเวศ จะรับพลังงานจากพืชผู้ผลิต และกินกันเป็นทอดๆ ส่งผ่านพลังงานในระบบนิเวศ

3. ผู้ย่อยสลาย ได้แก่ พวกจุลินทรีย์ทั้งหลายที่ช่วยในการทำลายหรือย่อยสลายซากพืชและซากสัตว์ให้เน่าเปื่อยผุพัง จนในที่สุดสลายตัวเป็นธาตุอาหารและปุ๋ย ซึ่งสะสมเป็นแหล่งอาหารในดินเพื่อประโยชน์ต่อผู้ผลิตต่อไป ซึ่งได้แก่ กลุ่มแบคทีเรีย เห็ด รา ในป่าชายเลน ซึ่งจะขับเอนไซม์มาย่อยสลายอินทรียสาร แล้วมีกระบวนการเปลี่ยนให้เป็นสารอนินทรีย์ ผู้ย่อยสลายยังรวมถึงปูและหอยบางชนิดด้วย ทำหน้าที่ย่อยสลายหมุนเวียนธาตุอาหารกลับไปยังผู้ผลิต

การหมุนเวียนแร่ธาตุและถ่ายทอดพลังงานในระบบนิเวศป่าชายเลน

เมื่อ ผู้ผลิต คือ พืชพรรณในป่าชายเลนและสาหร่ายได้รับแสงอาทิตย์จะเกิดการสังเคราะห์แสง เกิดการเจริญเติบโต ส่วนต่างๆ ของต้นไม้โดยเฉพาะใบไม้ กิ่งไม้ และเศษไม้ จะร่วงหล่นทับถมในน้ำและดิน และถูกย่อยสลายโดยผู้ย่อยสลายกลายเป็นอินทรียวัตถุและเป็นธาตุอาหารของผู้บริโภคจำพวกกินอินทรีย์สาร ซึ่งจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วกลายเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์แก่สัตว์น้ำเล็กๆ ซึ่งจะเจริญเติบโตกลายเป็นอาหารของสัตว์ เช่น กุ้ง ปู ปลา ขนาดใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามลำดับ หรือบางส่วนก็จะตายและสลายตัวเป็นธาตุอาหารสะสมอยู่ในป่านั่นเอง ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนี้จะถูกปรับให้เป็นไปอย่างสมดุลภายในระบบ ถ้าไม่ถูกรบกวนจากภายนอก การกินต่อกันเป็นทอดๆ ลักษณะนี้ เรียกว่า ห่วงโซ่อาหาร (Food chain) เมื่อพิจารณาการกินต่อกันหลายๆ ห่วงโซ่อาหารหรือเรียกว่าการกินอย่างสลับซับซ้อน เรียกการกินลักษณะนี้ว่า สายใยอาหาร (Food web) การกินต่อกันเป็นทอดๆ นี้ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนแร่ธาตุและถ่ายทอดพลังงานเกิดขึ้น กุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ เมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้น บางส่วนจะลงสู่ทะเล ซึ่งมนุษย์ได้นำสัตว์เหล่านี้เป็นอาหาร ทั้งจากบริเวณป่าชายเลนและในทะเลหรือชายฝั่งทะเล จึงกล่าวได้ว่าบริเวณป่าชายเลนเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก

“ห่วงโซ่อาหารในป่าชายเลน” มีการถ่ายทอดพลังงานเช่นเดียวกับระบบนิเวศอื่น โดยมีการถ่ายทอดไปตามลำดับขั้นของการกินอาหารภายในระบบนิเวศ โดยความสมดุลของระบบนิเวศขึ้นอยู่กับจำนวนห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศนั้นๆ ซึ่งหากระบบนิเวศใดมีจำนวนห่วงโซ่อาหารในจำนวนที่มากก็จะยิ่งมีความสมดุลของระบบนิเวศมากกว่าระบบนิเวศที่มีจำนวนห่วงโซ่อาหารน้อยนั่นเอง


อ้างอิง:

พูลศรี วันธงไชย, วรวุฒิ พิทักษ์สันติกูล, นวพร สุญาณเศรษฐกร, ปวีณา เชื้อผู้ดี. (2556). คู่มือความรู้เรื่องป่าชายเลน (พิมพ์ครั้งที่ 5). นนทบุรี: บริษัท พลอยมีเดีย จำกัด.

ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี. (2560). สายใยและห่วงโซ่อาหารอาหารในระบบนิเวศป่าชายเลน. ค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2564, จาก https://www.facebook.com/SirinartCenter/posts/1448233665258459/

Badola R SA Hussain (2005) Valuing ecosystem functions: an empirical study on the storm protection function of Bhitarkanika mangrove ecosystem, India, 32: 85-92.