รูปแบบโครงสร้างของป่าชายเลน
Kathiresan (2013) ได้อธิบายรูปแบบโครงสร้างของป่าชายเลน โดยแบ่งได้อย่างกว้างๆ 6 แบบ ได้แก่
1. Overwash forests เป็นลักษณะป่าชายเลนที่ขึ้นบนที่ราบน้ำทะเลท่วมถึง เมื่อน้ำท่วมมีลักษณะคล้ายเกาะ และได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำขึ้นลงอย่างสม่ำเสมอ
2. Fringe forests เป็นลักษณะของป่าชายเลนที่อยู่บนชายฝั่งที่มีความลาดชันน้อย พบทั่วไปบริเวณชายฝั่งของแผ่นดินใหญ่และเกาะใหญ่ๆ มักพบป่าประเภทนี้อยู่บริเวณที่เป็นอ่าวเปิด และได้รับอิทธิพลจากคลื่นลมไม่แรง ป่าชายเลนประเภทนี้ถ้าพบบนเกาะจะอยู่เหนือระดับน้ำทะเลสูงสุด
3. Riverine forests เป็นลักษณะป่าชายเลนที่ขึ้นบนร่องน้ำ หรือทางน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเล
4. Basin forests เป็นลักษณะป่าชายเลนที่เป็นพื้นที่ต่ำ น้ำท่วมและขังอยู่ มักพบขึ้นอยู่บนฝั่งที่ติดป่าบก สัมผัสกับน้ำจืดจากบนบก และน้ำกร่อยนานกว่าป่าชายเลนที่อยู่ตามชายฝั่ง ป่าชายเลนประเภทนี้มีพืชอิง-อาศัยขึ้นอยู่มาก เช่น กล้วยไม้
5. Scrub/Dwarf forests เป็นลักษณะป่าชายเลนที่ขึ้นบนบริเวณที่มีปัจจัยจำกัดการเจริญเติบโต โดยทั่วไปจะเป็นไม้พุ่มเตี้ยๆ ประมาณ 2 เมตร มักพบในบริเวณที่แห้งแล้งกว่าบริเวณอื่น
6. Hammock forests เป็นป่าชายเลนที่มีลักษณะคล้าย Basin forests แต่ระดับความสูงของพื้นที่ป่าประเภทนี้จะมากกว่าป่าชายเลนประเภทอื่นๆ
รูปแบบโครงสร้างของป่าชายเลน (Kathiresan (2013)
ปัจจัยสำคัญในการแบ่งเขตของพรรณไม้ป่าชายเลน
พรรณไม้แต่ละชนิดในป่าชายเลนจะขึ้นเป็นแถบหรือโซนแยกออกจากชนิดอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัดจากบริเวณชายฝั่งทะเลจนลึกเข้าในฝั่งด้านในซึ่งต่างจากป่าบก โดยอาจมีสาเหตุมาจากความแตกต่างกันในเรื่องการออกรากและการเจริญเติบโตของลูกไม้ เพราะไม้แต่ละชนิดสามารถขึ้นอยู่ในบริเวณที่แตกต่างกันตามระดับน้ำทะเล นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นที่มาควบคุมที่สำคัญ เช่น การท่วมของน้ำทะเล ชนิดของดิน ปริมาณเกลือในน้ำและดิน แสงสว่าง เป็นต้น จึงทำให้เกิดเป็นสังคมพืชที่มีลักษณะแตกต่างไปจากสังคมพืชอื่นๆ อย่างเด่นชัด อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้พรรณไม้ของป่าชายเลนขึ้นอยู่ในเขตหรือเป็นโซนมีหลายปัจจัย ได้แก่
1. ปัจจัยทางกายภาพและเคมีภาพของดิน ปกติป่าชายเลนปากแม่น้ำที่พบบริเวณปากแม่น้ำและริมฝั่งทะเลที่เป็นหาดเลนนั้น จะมีลักษณะเป็นดินโคลน แต่ชายหาดบางแห่งที่เป็นดินแห้งไม่มีป่าชายเลนอยู่และพรรณไม้ขึ้นได้ต้องมีรากค้ำจุนที่แข็งแรง ได้แก่ พรรณไม้ที่เรียกว่า ไม้เบิกนำ (pioneer species) ทั้งหลาย จากการศึกษาเกี่ยวกับสภาพของดิน พบว่าโกงกางใบใหญ่ชอบดินโคลนนิ่มๆ โกงกางใบเล็กชอบดินที่ไม่นิ่มเกินไป ส่วนไม้แสม ไม้พังกาหัวสุมดอกแดงขึ้นปนกันในบริเวณดินทราย และบางครั้งพบไม้แสมขึ้นในบริเวณที่เป็นดินโคลนหรือบริเวณที่เป็นชายหาดที่มีความลาดชันต่ำ สามารถทนต่อสภาพดินทรายได้ ถ้าบริเวณนั้นมีน้ำทะเลท่วมถึง นอกจากนั้นยังพบว่าไม้แสมจะเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะทางด้านความสูง เมื่อบริเวณนั้นมีการระบายน้ำที่ดี และพบไม้แสมขึ้นในป่าของไม้ถั่วขาว ซึ่งไม้ถั่วขาวนั้นจะขึ้นในบริเวณดินเหนียวที่มีลักษณะค่อนข้างแข็ง มีชั้นของฮิวมัสและมีการระบายน้ำที่ดี pH ของดินใต้ต้นโกงกางมีค่าเท่ากับ 6.6 และดินใต้ต้นแสม มีค่าเท่ากับ 6.2 เมื่อดินทั้งสองบริเวณมีสภาพอิ่มตัวด้วยน้ำ แต่ถ้าเป็นดินแห้งและอยู่ภายใต้สภาวะที่มีออกซิเจน ดินในเขตไม้โกงกาง pH จะลดเหลือ 4.6 ในขณะที่ดินของเขตไม้แสมจะลดเหลือ 5.7
2. ความเค็มของน้ำในดิน ความเค็มของน้ำในดิน เป็นปัจจัยสำคัญในการแบ่งเขตของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน เช่น ไม้โกงกางใบใหญ่และแสม มีความทนทานต่อความเค็มได้สูง ไม้ลำพูทะเลและไม้ลำแพนชอบน้ำที่มีความเค็มค่อนข้างสูง และมักพบขึ้นอยู่บริเวณติดกับทะเล ส่วนไม้ลำพูจะขึ้นบริเวณที่มีความเค็มน้อยกว่าประมาณ 10% ไม้พังกาหัวสุมดอกแดงจะทนต่อความเค็ม 10-20% ไม้โปรงแดงจะขึ้นและเจริญเติบโตได้ในบริเวณที่มีความเค็มมากกว่า 30%
3. การระบายน้ำและกระแสน้ำ เขตของพันธุ์ไม้ในป่าชายเลนมีอิทธิพลจากการระบายน้ำและกระแสน้ำ เช่น หากกระแสน้ำในเขตไม้โกงกางถูกปิดกั้นไม่มีการระบายออก อาจทำให้สังคมไม้โกงกางเปลี่ยนสภาพไปได้ และบริเวณนั้นมักถูกแทนที่ด้วยไม้ฝาดในเวลาต่อมา นอกจากนั้น ความสูงของไม้แสมทะเลจะถูกควบคุมโดยการระบายน้ำของดินในบริเวณนั้น ส่วนพืชชนิดอื่นที่มีความสูงแตกต่างกัน ก็น่าจะมาจากความต้องการระบายน้ำที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ การระบายน้ำของดินจะเป็นตัวกำหนดความเค็มและความเป็นกรดด่าง (pH ) ของน้ำในดิน
4. ความถี่ของน้ำทะเลท่วมถึง ปัจจัยที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งในการแบ่งเขตพรรณไม้ป่าชายเลน คือ ความถี่ในการท่วมถึงของน้ำทะเล ได้มีผู้แบ่งเขตพรรณไม้ออกเป็นบริเวณต่างๆ ตามการท่วมของน้ำทะเล ได้แก่ พื้นที่น้ำท่วมถึงทุกครั้ง ซึ่งจะมีเฉพาะไม้โกงกาง พื้นที่น้ำท่วมขณะที่มีน้ำขึ้นสูงปานกลางจะมีไม้แสมขาว แสมทะเล ไม้ลำพูทะเล และพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำจะมีไม้โกงกางใบใหญ่ขึ้น พื้นที่น้ำท่วมถึงขณะที่มีน้ำขึ้นสูงตามปกติ เป็นบริเวณที่มีไม้โกงกางหนาแน่นและมีไม้ชนิดอื่น เช่น ไม้โปรงแดง ไม้ตะบูนขาว และไม้ถั่วดำ เป็นต้น พื้นที่น้ำท่วมถึงเมื่อน้ำขึ้นสูงสุดเท่านั้น จะมีไม้ถั่ว ไม้ตะบูนและไม้ตาตุ่ม เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีพื้นที่น้ำท่วมเมื่อน้ำขึ้นสูงสุดเป็นพิเศษเท่านั้น โดยบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นไม้พังกาหัวสุมดอกแดง ไม้หลุมพอทะเล ไม้หงอนไก่ทะเล ไม้ตาตุ่มและต้นจาก ในส่วนต่างๆ ของประเทศไทย ได้พบการแบ่งเขตพันธุ์ไม้แตกต่างกันไปตามพื้นที่เพราะนอกจากปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว ความแตกต่างของสังคมพืชต่างๆ ยังถูกกำหนดปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่นอีก เช่น ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ อุณหภูมิ และปริมาณน้ำฝน หรือผลที่เกิดขึ้นของสังคมพืชอาจมาจากการกระทำร่วมกันของปัจจัยต่างๆ (interaction) ที่กล่าวมาแล้ว
การแบ่งเขตของชนิดของไม้ป่าชายเลน (species zonation)
ลักษณะพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ของป่าชายเลน คือ การแบ่งเขตของชนิดพันธุ์ไม้ (Species zonation) ซึ่งเป็นการพัฒนาสังคมพืชเป็นแถบหรือเขตพื้นที่ตามชนิดพันธุ์ไม้เด่น โดยในแต่ละเขตมักจะมีพันธุ์ไม้เด่นเพียงชนิดเดียวหรือสองถึงสามชนิด เนื่องจากพันธุ์ไม้แต่ละชนิดจะมีความสามารถขึ้นอยู่ในบริเวณที่มีลักษณะปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน เขตพันธุ์ไม้มักขนานไปกับแนวชายฝั่ง มีการแบ่งเขตการขึ้นอยู่ของพันธุ์ไม้ในป่าชายเลน 4 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มไม้แสมและไม้โกงกาง มักขึ้นตามริมน้ำซึ่งเป็นดินเลนลึกมีน้ำท่วมถึงเป็นประจำและในบริเวณที่มีความเค็มน้อยจะพบกลุ่มไม้ลำพูขึ้นอยู่
2. กลุ่มไม้พังกาหัวสุม ไม้ถั่ว และไม้โปรง ขึ้นอยู่ในบริเวณที่ดินเลนค่อนข้างแข็ง และน้ำทะเลท่วมถึงในระดับปกติ
3. กลุ่มไม้ฝาดและไม้ตะบูน ขึ้นบริเวณดินเลนแข็ง และพื้นที่ค่อนข้างสูง น้ำทะเลท่วมถึงเป็นครั้งคราว
4. กลุ่มไม้ตาตุ่ม ไม้หงอนไก่ทะเล และไม้เป้ง ขึ้นบริเวณดินเลนแข็งและเป็นที่สูงน้ำทะเลท่วมถึงเมื่อน้ำขึ้นสูงสุดเท่านั้น
นอกจากนี้ Watson (1928) ได้จัดแบ่งเขตไม้ป่าชายเลนในพื้นที่ทางด้านตะวันตกของประเทศมาเลเซียออกได้ 5 บริเวณ โดยมีความถี่ของน้ำทะเลท่วมถึงเป็นปัจจัยสำคัญในการแบ่งเขตไม้ป่าชายเลน ดังนี้
1. พื้นที่ที่มีน้ำทะเลท่วมถึงทุกครั้ง บริเวณนี้ไม่มีไม้ป่าชายเลนชนิดใดขึ้นได้ในสภาวะเช่นนี้ ยกเว้นโกงกางใบใหญ่
2. พื้นที่ที่มีน้ำทะเลท่วมถึงในขณะที่มีน้ำขึ้นสูงปานกลาง ไม้ป่าชายเลนที่ขึ้นบริเวณนี้เป็นพวกแสมขาว แสมทะเล ลำพูทะเลและโกงกางใบใหญ่
3. พื้นที่ที่มีน้ำทะเลท่วมถึงในขณะที่มีน้ำขึ้นสูงตามปกติ บริเวณนี้มีไม้ป่าชายเลนเจริญเติบโต ได้ดี โดยเฉพาะโกงกางจะขึ้นหนาแน่นมากกว่าชนิดอื่นที่พบในบริเวณนี้ นอกจากนี้ยังพบพวกโปรงแดง ตะบูนและถั่วดำ เป็นต้น
4. พื้นที่ที่มีน้ำทะเลท่วมถึงเมื่อน้ำขึ้นสูงสุดเท่านั้น บริเวณนี้จะมีสภาพที่แห้งเกินไปสำหรับไม้โกงกางจะขึ้นได้ แต่จะเหมาะสมกับพวกไม้ถั่ว ตะบูนและตาตุ่ม
5. พื้นที่ที่มีน้ำทะเลท่วมถึงเมื่อน้ำขึ้นสูงสุดเป็นพิเศษเท่านั้น ไม้ป่าชายเลนที่ขึ้นบริเวณนี้เป็นพวกพังกาหัวสุม หลุมพอทะเล หงอนไก่ทะเล ตาตุ่มและจาก เป็นต้น
การแพร่กระจายตัวของป่าชายเลนในประเทศไทย
ป่าชายเลนของประเทศไทยขึ้นอยู่กระจัดกระจายตามชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ โดยจะพบทั้งทางด้านฝั่งอ่าวไทยและฝั่งด้านทะเลอันดามัน ฝั่งอ่าวไทยในภาคกลางพบป่าชายเลนกระจายตัวบริเวณที่ติดกับชายฝั่งทะเลของจังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และในภาคตะวันออกพบป่าชายเลนขึ้นแพร่กระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลของจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และฉะเชิงเทรา ส่วนชายฝั่งภาคใต้ด้านตะวันออก จะพบตามปากน้ำและลำน้ำใหญ่ๆ ในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ในด้านทะเลอันดามันพบแนวป่าชายเลนยาวติดต่อกันตั้งแต่เขตจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุดของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดพังงา สตูล กระบี่ และตรัง
การจำแนกประเภทของป่าชายเลนในประเทศไทยตามโครงสร้างของป่าชายเลน
1. ป่าชายเลนที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำหรือน้ำกร่อย
ป่าชายเลนประเภทนี้พบขึ้นอยู่ตามริมแม่น้ำและร่องน้ำที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำจืดมาก โดยพื้นที่ป่าชายเลนด้านที่ติดกับทะเล จะมีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น และมีจำนวนชนิดต้นไม้มากกว่าบริเวณที่ห่างจากทะเลขึ้นไป หรืออยู่ทางด้านต้นน้ำจืด ได้แก่ ป่าชายเลนในอ่าวปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นป่าชายเลนที่ขึ้นอยู่ริมแม่น้ำใหญ่ คือ แม่น้ำปากพนัง คลองบางจากและคลองปากนคร ป่าชายเลนปากแม่น้ำกันตัง และแม่น้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง ป่าชายเลนในจังหวัดระนอง และจังหวัดพังงา เป็นต้น
2. ป่าชายเลนที่อยู่ริมทะเล
ป่าชายเลนประเภทนี้จะพบตามบริเวณชายฝั่งหรือปากแม่น้ำสายเล็กๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากน้ำจืดน้อย หรือมีน้ำจืดไหลลงสู่บริเวณป่าชายเลนในปริมาณน้อย น้ำในป่าชายเลนประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำทะเล พื้นที่ป่าชายเลนประเภทนี้ ได้แก่ ป่าชายเลนที่พบขึ้นตามเกาะต่างๆ ซึ่งมีบริเวณขนาดเล็ก สง่าและคณะ (2530) ได้ทำการแบ่งเขตชนิดไม้ป่าชายเลนในประเทศไทยในแต่ละพื้นที่ ดังนี้
2.1 จังหวัดชุมพร มีกลุ่มชนิดไม้ป่าชายเลนขึ้นจากชายฝั่งน้ำลึกเข้าในป่าด้านในติดป่าดอน สรุปได้ดังนี้ บริเวณด้านนอกติดกับริมน้ำเป็นกลุ่มไม้ลำพู-แสม ถัดไปเป็นกลุ่มโกงกางใบใหญ่และตามด้วยกลุ่มโกงกางใบเล็ก-ถั่ว หลังไม้กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มไม้โปรง-ตะบูน หลังจากกลุ่มไม้โปรง-ตะบูนจะเป็นกลุ่มไม้ตาตุ่มและเป้ง ตามลำดับ
2.2 จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากริมน้ำเป็นกลุ่มไม้โกงกาง-แสม ตามด้วยกลุ่มไม้โปรง-ตะบูน ถัดจากนี้จะเป็นกลุ่มไม้ตาตุ่มและกลุ่มไม้ฝาด
2.3 จังหวัดนครศรีธรรมราช จากริมน้ำเป็นกลุ่มไม้โกงกางใบเล็ก ถัดไปเป็นกลุ่มไม้โปรง-ตะบูน และตามด้วยกลุ่มไม้ฝาด และสุดท้ายจะเป็นกลุ่มไม้โปรง
2.4 จังหวัดปัตตานี จากริมน้ำเป็นกลุ่มไม้โกงกางใบเล็ก ตามด้วยกลุ่มไม้โกงกางใบเล็ก-ถั่ว และถัดเข้าไปจะเป็นกลุ่มไม้ตะบูน-ปรงทะเล
2.5 จังหวัดระนอง จากริมน้ำเป็นกลุ่มเล็บมือนาง-รังกะแท้ และถัดเข้าไปจะเป็นกลุ่มไม้ลำพู-แสม ตามด้วยกลุ่มไม้โกงกาง-ถั่ว และถัดจากกลุ่มนี้เข้าไปจะเป็นกลุ่มไม้โปรง-ตะบูนและกลุ่มไม้แสม และในเขตสุดท้ายจะเป็นกลุ่มไม้ฝาด และกลุ่มไม้เป้งตามลำดับ
2.6 จังหวัดพังงา จากริมน้ำเป็นกลุ่มไม้ลำพู-แสม และกลุ่มไม้โกงกางใบใหญ่ ตามด้วยกลุ่มไม้โกงกางใบเล็ก-ถั่ว ถัดจากกลุ่มนี้ไปเป็นกลุ่มไม้โปรง และกลุ่มไม้โปรง-ตะบูน สำหรับเขตสุดท้ายจะเป็นกลุ่มไม้ตาตุ่ม-เป้ง
2.7 จังหวัดกระบี่ จากริมน้ำเป็นกลุ่มไม้โกงกางใบใหญ่และโกงกางใบเล็ก ตามด้วยกลุ่มไม้โปรง และถัดไปเป็นกลุ่มไม้โปรง-ตะบูน ส่วนเขตสุดท้ายจะเป็นกลุ่มไม้ฝาดและเป้ง
2.8 จังหวัดตรัง จากริมน้ำเป็นกลุ่มไม้ลำพู-แสม และตามด้วยกลุ่มไม้โกงกางและกลุ่มไม้โปรง-ตะบูน จะขึ้นแนวหลังสุดของป่าชายเลน
2.9 จังหวัดสตูล จากริมน้ำเป็นกลุ่มไม้ลำพู-แสม ถัดไปเป็นกลุ่มไม้โกงกางและตามด้วยกลุ่มไม้โปรง-ตะบูน และกลุ่มไม้ฝาด ส่วนเขตสุดท้ายอยู่ติดกับป่าดอน เป็นกลุ่มไม้เสม็ดและบริเวณที่ป่าถูกทำลายจะมีปรงทะเลขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น
สง่าและคณะ (2530) ได้สรุปไว้ว่า การขึ้นอยู่ของกลุ่มไม้ในสังคมป่าชายเลนมีความสัมพันธ์กับสภาพพื้นที่และปัจจัยสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน กล่าวคือ พวกไม้ลำพู-แสม จะเป็นไม้เบิกนำที่ชอบขึ้นอยู่ริมแม่น้ำ ลักษณะเป็นดินเลนมีทรายผสมและมีน้ำท่วมถึงเป็นประจำ ไม้โกงกางใบใหญ่และโกงกางใบเล็กจะชอบขึ้นอยู่ตามริมแม่น้ำซึ่งเป็นดินเลนหนา เป็นพื้นที่น้ำทะเลท่วมถึงเป็นประจำ เช่นเดียวกับพวกแสม-ลำพู พวกไม้ถั่วและไม้โปรงชอบขึ้นอยู่ในที่ดินเลนค่อนข้างแข็งมีน้ำทะเลท่วมถึงสำหรับไม้ฝาดและตะบูนชอบขึ้นในที่ดินเลนแข็ง และพื้นที่ระดับค่อนข้างสูงเล็กน้อย ส่วนพวกที่ชอบขึ้นอยู่บนพื้นที่เลนแข็งและมีน้ำทะเลท่วมถึงบางครั้งในรอบเดือน ได้แก่ กลุ่มไม้-ตาตุ่ม ไม้เสม็ด ไม้เป้ง สำหรับบริเวณที่ป่าชายเลนถูกถางและทำลายจะพบพวกปรงทะเลขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น
ภาพจาก : ส่วนวิจัยทรัพยากรป่าชายเลน กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน
อ้างอิง:
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. ชีววิทยาและนิเวศวิทยาป่าชายเลน. ค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2564, จาก https://km.dmcr.go.th/th/c_11/d_1249
พูลศรี วันธงไชย, วรวุฒิ พิทักษ์สันติกูล, นวพร สุญาณเศรษฐกร, ปวีณา เชื้อผู้ดี. (2556). คู่มือความรู้เรื่องป่าชายเลน (พิมพ์ครั้งที่ 5). นนทบุรี: บริษัท พลอยมีเดีย จำกัด.
สง่า สรรพศรี, สนิท อักษรแก้ว, จิตต์คง แสงไชย, ประจิม สุกสี เหลือง, เพ็ญ ธรรมโชติ, โสภณ หะวานนท์และ นริศธรรมโชติ. (2530). รายงานการวิจัยการศึกษาสังคมป่าชายเลนในประเทศไทยโดยวิธีการจัดหมวดหมู่และการวิเคราะห์ศักยภาพ. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, กรุงเทพฯ
Namfonspa. (2011). การแบ่งเขตของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน. ค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2564, จาก https://namfonspa.wordpress.com/2011/11/24