ข่าวประชาสัมพันธ์

วิสัยพืชที่พบในป่าชายเลน

ลักษณะวิสัยและถิ่นอาศัย

ลักษณะวิสัย (Habit) ของพืช หมายถึง รูปร่างลักษณะของพันธุ์ไม้ที่มองเห็นในสภาพธรรมชาติ เช่น เป็นพุ่ม เป็นต้นสูงใหญ่ หรือเลื้อยพาดพันอยู่บนต้นไม้อื่น เป็นต้น

ถิ่นอาศัย (Habitat) ของพืช หมายถึง สถานที่และสภาพที่พืชต่างๆ ขึ้นอยู่ในธรรมชาติพืชแต่ละชนิดจะขึ้นอยู่ในที่ต่างๆ กัน เช่น อยู่บนดิน อยู่ในน้ำ หรืออยู่บนต้นไม้อื่นๆ

วิสัยพืช (Plant Habit)

ลักษณะวิสัยของพืช คือ ลักษณะของลำต้น เป็นอวัยวะของพืชที่เจริญมาจากส่วนของเอ็มบริโอที่อยู่เหนือรากแรกเกิดภายในเมล็ด โดยเจริญมาจากส่วนของลำต้นเหนือใบเลี้ยง (epicotyl) ซึ่งมียอดแรกเกิด (plumule) เจริญแบ่งเซลล์ไปเรื่อยๆ ทำให้ลำต้นสูงขึ้นและเกิดยอดใหม่ รวมทั้งลำต้นส่วนใต้ใบเลี้ยง (hypocotyl) ด้วย ลำต้นส่วนใหญ่เจริญขึ้นสู่อากาศในทิศทางตรงข้ามกับแรงดึงดูดของโลก ทำหน้าที่หลักของลำต้น ได้แก่ สร้างใบ ค้ำกิ่งก้านสาขาให้ใบได้รับแสง เป็นทางลำเลียงน้ำและธาตุอาหารจากใบไปสู่ส่วนต่างๆ ของพืช และสร้างอวัยวะสืบพันธุ์ นอกจากนี้ลำต้นยังทำหน้าที่พิเศษอื่นๆ เช่น สะสมอาหาร สังเคราะห์แสง

วิสัยพืชที่พบในป่าชายเลน

1. ไม้ต้น (Tree), ไม้ต้นขนาดเล็ก (Small Tree)

พืชที่มีลำต้นเดี่ยว มีลำต้นเป็นเนื้อไม้แข็ง ลำต้นสูง มีลำต้นหลักเพียงลำต้นเดียว และมีการแตกกิ่งก้านสาขาด้านบนของลำต้น มีขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ ไม้ต้นหรือไม้ต้นขนาดเล็กที่พบในป่าชายเลน เช่น โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ตะบูนดำ ตะบูนขาว แสมขาว แสมทะเล พังกาหัวสุมดอกแดง ลำพู ตีนเป็ดทะเล ฝาดดอกแดง ตาตุ่มทะเล โปรงแดง เป็นต้น


โกงกางใบเล็ก 


ตะบูนขาว

2. ไม้พุ่ม (Shrub)

พืชที่มีการแตกกิ่งก้านสาขาตั้งแต่โคนต้น เป็นไม้ต้นที่มีขนาดความสูงไม่เกิน 4 เมตร ลำต้นมีเนื้อไม้แข็ง เมื่อเจริญเติบโตจะไม่มีลำต้นหลัก มักมีหลายลำต้นแยกออกไป ทำให้มีลักษณะเป็นทรงพุ่ม โดยพุ่มไม้นี้มีขนาดเล็กหรือขนาดกลาง ไม้พุ่มที่พบในป่าชายเลน เช่น เหงือกปลาหมอดอกม่วง จาก เป้งทะเล ขลู่ สำมะง่า ช้าเลือด โคลงเคลงขน คันทรง ใบพาย มะนาวผีผลเหลี่ยม สีง้ำ เป็นต้น


เหงือกปลาหมอดอกม่วง


ขลู่

3. ไม้เลื้อย (Climber)

พืชที่มีส่วนของลำต้นหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปพันกับหลักหรือต้นไม้อื่นๆ แบ่งเป็น ไม้เลื้อยที่มีลำต้นประเภทเนื้ออ่อน ไม่มีเนื้อไม้ (herbaceous climber) มีกลุ่มเนื้อเยื่อที่ให้ความแข็งแรงแก่ลำต้นน้อย และไม้เลื้อยที่มีลำต้นประเภทเนื้อแข็ง มีเนื้อไม้ (woody climber) มีกลุ่มเนื้อเยื่อที่ให้ความแข็งแรงแก่ลำต้น ไม้เลื้อยมีลำต้นเรียว เล็ก ยาว เลื้อยพันกับต้นไม้หรือวัตถุอื่นเพื่อพยุงลำต้น ไม้เลื้อยหรือไม้เถาที่พบในป่าชายเลน เช่น กระเพาะปลา หวายลิง ถอบแถบทะเล เทพี สักขี เป็นต้น


กระเพาะปลา


ถอบแถบทะเล


หวายลิง

4. ไม้ล้มลุก (Herb)

พืชที่มีขนาดเล็ก มีเนื้อเยื่อที่เป็นเนื้อไม้ที่ให้ความแข็งแรงแก่ลำต้นเพียงเล็กน้อย ลำต้นอ่อนนุ่ม อายุการเจริญเติบโตสั้น ไม้ล้มลุกจะตายเมื่อหมดฤดูของการเจริญเติบโต ไม้ล้มลุก, ไม้เถาล้มลุกที่พบในป่าชายเลน เช่น ชะคราม ผักเบี้ยทะเล ผักบุ้งทะเล เบญจมาศน้ำเค็ม เป็นต้น


เบญจมาศน้ำเค็ม


ผักบุ้งทะเล


ชะคราม

5. เฟิร์นไม้น้ำ (Aquatic Fern)

เฟิร์นเป็นพืชสีเขียวไร้ดอก ซึ่งมีลักษณะเด่นแตกต่างจากพืชอื่นๆ คือ มีใบอ่อนม้วนขดเป็นวง จากปลายใบ เข้าหาโคนก้านใบ ส่วนใบที่เจริญเต็มที่ มักจะพบจุดหรือขีดสีน้ำตาลหรือกลุ่มของอับสปอร์ เกิดทางด้านล่างของแผ่นใบ ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เฟิร์นเป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตช้า จึงมีความต้องการสารอาหารในปริมาณต่ำ ทำให้เฟิร์นสามารถเจริญได้บนดินเลว บนหิน ตามร่องหิน หรือเป็นพืชอิงอาศัยบนไม้พุ่มหรือไม้ต้น เฟิร์นน้ำ มีทั้งพวกที่ลอยน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ หรือมีทั้งส่วนที่อยู่ใต้น้ำและอยู่เหนือน้ำ บางชนิดเจริญได้เฉพาะในน้ำจืด บางชนิดเจริญได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย เฟิร์นไม้น้ำที่พบในป่าชายเลน ได้แก่ ปรงทะเล ปรงหนู


ปรงทะเล                                                                                                                      ปรงหนู

6. เฟิร์นไม้เลื้อย (Creeping Fern)

พืชพวกเฟิร์น ลำต้นทอดยาวไปตามพื้นดิน แล้วพัฒนาเป็นพืชเถาเลื้อยไปตามลำต้นของไม้อื่น แตกแขนงได้ดี เฟิร์นไม้เลื้อยที่พบในป่าชายเลน ได้แก่ ลำเท็ง


ลำเท็ง


อ้างอิง:

สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน. (2566). พันธุ์ไม้ป่าชายเลน. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, กรุงเทพฯ.

มิตราภรณ์ วัชโรทัย. พฤกศาสตร์สำหรับเยาวชน. ค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2564, จาก https://www.dnp.go.th/botany/BFC/habitat.html#top

มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ/เล่มที่ ๒๓/เรื่องที่ ๖ เฟิร์นไทย. ค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2564, จาก https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=23&chap=6&page=chap6.htm

รศ. บุศบรรณ ณ สงขลา. ลักษณะวิสัยและถิ่นอาศัย. ค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2564, จาก http://www.rspg.or.th/botanical_school/pdf/%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%96%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%A2.pdf

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. (2550). หนังสือส่งเสริมการสื่อสารวิทยาศาสตร์ “คู่มือศึกษาพรรณไม้ในธรรมชาติ”. กรุงเทพฯ.