การปรับตัวของไม้ป่าชายเลนเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่ทำให้เห็นถึงความแปลกตาหรือความมหัศจรรย์ของพรรณไม้ป่าชายเลนได้อย่างเด่นชัด ก็คือ “การพัฒนาระบบรากของพรรณไม้ในป่าชายเลน” ด้วยเหตุที่ป่าชายเลนขึ้นอยู่ในบริเวณริมชายฝั่งทะเลที่มีกระแสน้ำขึ้น-น้ำลงอยู่เสมอ และน้ำยังมีความเค็ม พรรณไม้ต่างๆ จำเป็นต้องมีการปรับตัว (adaptation) ให้เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถอยู่รอดและแพร่กระจายพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่อง (สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน, 2552)
อย่างไรก็ตาม รากของไม้ป่าชายเลนต้องการออกซิเจนเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตและการเจริญเติบโต ดังนั้น ไม้ป่าชายเลนจึงต้องพัฒนาระบบรากเพื่อให้สามารถได้รับออกซิเจน อีกทั้ง การพัฒนาระบบรากของพรรณไม้ในป่าชายเลนก็เพื่อประโยชน์ในแง่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อช่วยค้ำจุนลำต้น การหายใจ ตลอดจนการดักเก็บเศษซากพืชซากสัตว์บนผิวดินที่จะย่อยสลายกลายเป็นแร่ธาตุให้กับต้นไม้ นอกจากนี้ ระบบรากที่ซับซ้อน ยึดแน่น ค้ำยัน และโผล่พ้นผืนดินของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน ยังเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในกระบวนการลดทอนความรุนแรงของคลื่นลมในป่าชายเลนอีกด้วย
ลักษณะรากของพรรณไม้ที่สามารถพบได้ในป่าชายเลน
1. รากค้ำจุนหรือรากค้ำยัน (Prop root)
เป็นรากที่เกิดจากโคนต้นหรือกิ่งเหนือดิน แล้วเจริญลงไปยึดกับดิน ทำหน้าที่ช่วยค้ำยันต้นไม้ไม่ให้ล้ม ช่วยในการทรงตัวในดินเลนได้เป็นอย่างดี พืชป่าชายเลนที่พบรากชนิดนี้ ได้แก่ โกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculata Blume) โกงกางใบใหญ่ (Rhizophora mucronata Lam.)
2. รากอากาศคล้ายกรวยคว่ำ (Pneumatophore)
เป็นรากที่งอกจากรากแก้ว แผ่ในดินตื้นๆ ในแนวราบ แล้วมีส่วนที่โผล่พ้นดินหรือน้ำ ชูส่วนปลายสู่อากาศ รูปร่างคล้ายทรงกรวยคว่ำ ส่วนที่อยู่เหนือดินหรือน้ำทำหน้าที่ในการหายใจ ดูดซับออกซิเจน พบในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง พืชป่าชายเลนที่พบรากชนิดนี้ ได้แก่ ลำพู (Sonneratia caseolaris (L.) Engl.) ลำพูทะเล (Sonneratia alba Sm.) ลำแพน (Sonneratia ovata Backer) ลำแพนหิน (Sonneratia griffithii Kurz) ตะบูนดำ (Xylocarpus moluccensis (Lam.) M. Roem.)
3. รากอากาศคล้ายดินสอ (Pneumatophore, pencil root)
จัดอยู่ในกลุ่มรากหายใจ (Pneumatorphore) เป็นรากที่งอกจากรากแก้ว แผ่ในดินตื้นๆ ในแนวราบ แล้วมีส่วนที่โผล่พ้นดินหรือน้ำ ชูส่วนปลายสู่อากาศ รูปร่างคล้ายดินสอ ส่วนที่อยู่เหนือดินหรือน้ำทำหน้าที่ในการหายใจ ดูดซับออกซิเจน พบในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง พืชป่าชายเลนที่พบรากชนิดนี้ ได้แก่ ใบพาย (Aegialitis rotundifolia Roxb.) แสมขน (Avicennia lanaya Ridley) แสมขาว (Avicennia alba Blume) แสมดำ (Avicennia officinalis L.) แสมทะเล (Avicennia marina (Forssk.) Vierh) หงอนไก่ใบเล็ก (Heritiera fomes Buch. - Ham.)
4. รากอากาศคล้ายเข่า (Pneumatophore, Knee root)
จัดอยู่ในกลุ่มรากหายใจ (Pneumatorphore) เป็นรากใต้ดินที่แผ่ตามแนวราบ แทงขึ้นพ้นดินหรือน้ำแล้ววกกลับลงดินอีกครั้ง รูปร่างคล้ายคล้ายเข่าของมนุษย์ ส่วนที่พ้นดินหรือน้ำจะทำหน้าที่ดูดซับออกซิเจน พบในบริเวณที่ชื้นแฉะมีน้ำท่วมขัง พืชป่าชายเลนที่พบรากชนิดนี้ ได้แก่ แดงน้ำ (Aglaia cucullata (Roxb.) Pellegr.) ถั่วขาว (Bruguiera cylindrica (L.) Blume) ถั่วดำ (Bruguiera parviflora (Roxb.) Wight & Arn. ex Griff.) โปรงขาว (Ceriops decandra (Griff.) W. Theob.) โปรงแดง (Ceriops tagal (Perr.) C. B. Rob.) โปรงหมู (Ceriops zippeliana Blume) ฝาดดอกขาว (Lumnitzera racemosa Willd.) ฝาดดอกแดง (Lumnitzera littorea (Jack) Voigt) พังกา-ถั่วขาว (Bruguiera hainesii C. G. Rogers) พังกาหัวสุมดอกขาว (Bruguiera sexangula (Lour.) Poir.) พังกาหัวสุมดอกแดง (Bruguiera gymnorrhiza (L.) Savigny.)
5. รากพูพอน (Buttress root)
มีลักษณะเป็นแผ่นแบน เป็นแผงขยายออกจากส่วนโคนของลำต้น ทำหน้าที่ค้ำจุน ช่วยลดแรงสั่นสะเทือนให้กับต้นไม้ และดูดซับออกซิเจน พืชป่าชายเลนที่พบรากชนิดนี้ ได้แก่ ตะบูนขาว (Xylocarpus granatum J. Koenig) มะคะ (Cynometra ramiflora L.) มะนาวผี (Atalantia monophylla (L.) DC.) เล็บมือนาง (Aegiceras corniculatum (L.) Blanco) หงอนไก่ทะเล (Heritiera littoralis Aiton)
อ้างอิง:
กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน. (2563). พันธุ์ไม้ป่าชายเลน. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, กรุงเทพฯ.
สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน. (2552). พันธุ์ไม้ป่าชายเลนในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. (2550). หนังสือส่งเสริมการสื่อสารวิทยาศาสตร์ “คู่มือศึกษาพรรณไม้ในธรรมชาติ”. กรุงเทพฯ.
สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. ทำไมไม้ป่าชายเลนจึงมีลักษณะของรากแตกต่างจากไม้ยืนต้นทั่วๆ ไป?. ค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2564, จากhttp://biodiversity.forest.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=164:2011-10-27-08-02-24&catid=25:the-project&Itemid=68