การท่องเที่ยว หมายถึง การที่คนเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ และตลอดระยะเวลาเหล่านั้นได้มีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้น การไปเที่ยวชมสถานที่ที่สวยงามหรือทัศนียภาพแปลกใหม่ หรือเดินซื้อสิ่งของต่างๆ เป็นต้น การท่องเที่ยวมีหลายรูปแบบด้วยกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ระยะเวลาในการท่องเที่ยว ประเภทของการคมนาคม จำนวนสมาชิกหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นต้น
คำว่า นิเวศ แปลว่า บ้านหรือที่อยู่อาศัย (ราชบัณฑิตยสถาน, 2554) ดังนั้น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศจึงเป็นการท่องเที่ยวที่เน้นในด้านการเรียนรู้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต การท่องเที่ยวตามแหล่งอนุรักษ์ทางธรรมชาติหรือวัฒนธรรม อย่างมีความรับผิดชอบ การสนับสนุนคนพื้นเมืองให้มีการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงการแบ่งปันความรู้ทั้งคนในพื้นที่และผู้เยี่ยมเยือน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นการหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวระหว่างการอนุรักษ์ชุมชนและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งหมายความว่าทุกคนที่มีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศควรนำหลักแนวคิดต่างๆ มาใช้ ได้แก่ (1) ลดผลกระทบทางกายภาพ สังคม พฤติกรรม และทางจิตใจ (2) สร้างความตระหนักและความเคารพต่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม (3) มอบประสบการณ์แง่บวกให้กันและกันทั้งผู้เยี่ยมเยือนและเจ้าบ้าน (4) ให้ความสนับสนุนทางการเงินในการอนุรักษ์ (5) สร้างรายได้ให้แก่คนท้องถิ่นและอุตสาหกรรม (6) รับรู้ถึงสิทธิและความเชื่อของชนพื้นเมืองในพื้นที่และทำงานร่วมกันเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับทุกคน (The International Ecotourism Society, 2015)
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism)
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) เป็นรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวในปัจจุบันที่นานาประเทศให้ความสำคัญ เพื่อการมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศและนานาชาติ ตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Environmentally Sustainable Development) โดยให้ความสำคัญแก่การให้การศึกษาหรือการเรียนรู้ หรือมุ่งเน้นให้เกิดการอนุรักษ์มากกว่าการจัดการลดหรือปราศจากผลกระทบและนักท่องเที่ยวพึงพอใจเท่านั้น แต่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศจะต้องเป็นการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ มีการจัดการรักษาสิ่งแวดล้อม และให้การศึกษาแก่นักท่องเที่ยว
ความหมายของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
Ecotourism เป็นคำที่เกิดใหม่ในวงการ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยนำคำ 2 คำมารวมกัน ได้แก่
Eco แปลตามรูปศัพท์ว่า บ้านหรือที่อยู่อาศัย
Tourism แปลว่า การท่องเที่ยว
Ecotourism จึงแปลว่า การท่องเที่ยวเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย หมายความถึง การท่องเที่ยวที่เน้นในด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์
ส่วนคำว่า นิเวศ ซึ่งเป็นคำภาษาสันสกฤตที่นำมาใช้ในภาษาไทย ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง บ้านหรือที่อยู่อาศัยเช่นกัน ฉะนั้น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศจึงเป็นศัพท์บัญญัติที่มีความหมายตรงกับคำในภาษาอังกฤษอย่างเหมาะสม
นอกจากคำว่า Ecotourism แล้ว ยังมีคำอื่นๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงหรือเกี่ยวข้องกัน ได้แก่
Green tourism แปลว่า การท่องเที่ยวสีเขียว หมายถึง การท่องเที่ยวสถานที่ทางธรรมชาติโดยสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ
Biotourism แปลว่า การท่องเที่ยวเชิงชีวภาพ ซึ่งหมายถึง การท่องเที่ยวที่เน้นการศึกษาสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ
Agrotourism แปลว่า การท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นการท่องเที่ยวที่เน้นในด้านเกษตรกรรม เพื่อให้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของพืชผลไร่นา และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร
คำว่า “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” เป็นศัพท์บัญญัติที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำมาใช้อย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2541 โดยให้มีความหมายตรงกับคำว่า Ecotourism ในภาษาอังกฤษ ศัพท์บัญญัตินี้ได้รับความเห็นชอบจากราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบัญญัติศัพท์แล้วเพื่อขยายความหมายของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้ชัดเจนยิ่งขึ้น มีผู้ให้ความหมาย/คำนิยามของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศไว้ ดังนี้
องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme – UNEP) สมาคมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism Society) และองค์การการท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization) ให้คำนิยามว่า “การท่องเที่ยวที่ไม่เป็นการรบกวนลักษณะทางธรรมชาติ มุ่งหวังในด้านการศึกษา มีความพอใจต่อทัศนียภาพ พืชพรรณ และสัตว์ตามธรรมชาติ มีความเข้าใจต่อวัฒนธรรม ประวัติความเป็นมาของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยไม่เป็นการรบกวนต่อระบบนิเวศ ในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่จะทำ ให้เกิดการอนุรักษ์ต่อทรัพยากรของประชากร ในท้องถิ่น”
ราฟ บุคเลย์ (Raff Buckley, 1992 อ้างใน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, 2542) นิยามว่า คือการท่องเที่ยวที่ถูกจัดการดูแลอย่างยั่งยืน อยู่บนพื้นฐานของธรรมชาติ มีการศึกษาด้านการเรียนรู้วัฒนธรรม และ/หรือ สิ่งแวดล้อมเอื้อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ และสร้างความพึงพอใจแก่นักท่องเที่ยว
บุญเลิศ จิตตั้งวัฒนา (2542) ให้ความหมายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หมายถึง การท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยมีการให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้อง และให้ชุมชนท้องถิ่น และสร้างจิตสำนึกให้ทุกฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบต่อระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้คำนิยามว่า “การเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใดแห่งหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา ชื่นชม และเพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพธรรมชาติ สภาพสังคม วัฒนธรรม และชีวิตของคนในท้องถิ่น บนพื้นฐานความรู้และความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศ”
สรุปความหมายของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คือ การท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปยังแหล่งธรรมชาติ และแหล่งวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ มีการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม โดยมีการควบคุมผลกระทบ และสร้างบรรยากาศของการศึกษาเรียนรู้ ธรรมชาติแวดล้อม พร้อมให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม และ ได้รับประโยชน์เพื่อเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตแหล่งธรรมชาติ รวมทั้งแหล่งวัฒนธรรมอย่างมีความรับผิดชอบ โดยไม่ก่อให้เกิดการรบกวนหรือทำความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และมีวัตถุประสงค์อย่างมุ่งมั่นเพื่อชื่นชม ศึกษา เรียนรู้ และเพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพ พืชพรรณ และสัตว์ป่า ตลอดจนลักษณะทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในแหล่งธรรมชาตินั้น อีกทั้งช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้การอนุรักษ์ ปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นด้วยแนวคิดพื้นฐานของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
สาระสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ศูนย์วิจัยป่าไม้ (2538) ได้สรุปสาระสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศไว้ ดังนี้
1. แหล่งท่องเที่ยวที่จะส่งเสริมควรเป็นพื้นที่ธรรมชาติ ที่มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมเป็นหลัก และอาจรวมถึงแหล่งประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวัฒนธรรมที่ปรากฏในพื้นที่ด้วย
2. ควรเป็นการท่องเที่ยวที่ทุกฝ่ายมีความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติและระบบนิเวศ เป็นการท่องเที่ยวที่ไม่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม
3. เน้นให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส ได้รับประสบการณ์ และการเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยตรง อีกทั้งเสริมสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
4. เป็นการท่องเที่ยวที่ให้ประโยชน์กลับคืนสู่ธรรมชาติ เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นทั้งทางตรงและทางอ้อม
5. มุ่งเน้นคุณค่าลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของธรรมชาติที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในการดึงดูดใจนักท่องเที่ยว แต่ไม่เน้นที่การเสริมแต่ง พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก
จากที่กล่าวมาข้างต้น ได้สะท้อนภาพของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศไว้อย่างชัดเจน ว่าเป็นการท่องเที่ยวและการพัฒนาไปพร้อมๆกัน โดยเฉพาะการพัฒนาจิตสำนึกของนักท่องเที่ยวให้มีความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม
องค์ประกอบหลักของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (2544) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบหลักที่สำคัญของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มี 4 ประการคือ
1. องค์ประกอบด้านพื้นที่ เป็นการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น รวมทั้งแหล่งวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศ (Eco-system) ในพื้นที่นั้นๆ
2. องค์ประกอบด้านการจัดการ เป็นการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ (Responsible Travel) โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม มีการจัดการที่ยั่งยืนครอบคลุมไปถึงการอนุรักษ์ทรัพยากร การจัดการสิ่งแวดล้อม การป้องกันและจำกัดมลพิษ ภาวะ และควบคุมอย่างมีขอบเขต จึงเป็นการท่องเที่ยวที่มีการจัดการยั่งยืน
3. องค์ประกอบด้านกิจกรรมและกระบวนการ เป็นการท่องเที่ยวที่มีกระบวน การเรียนรู้ โดยมีการให้ศึกษาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม และระบบนิเวศของแหล่งท่องเที่ยว เป็นการเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ ความประทับใจ เพื่อสร้างความตระหนักและปลูกจิตสำนึกที่ถูกต้องต่อนักท่องเที่ยว ประชาชนท้องถิ่น และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง
4. องค์ประกอบด้านการมีส่วนร่วม เป็นการท่องเที่ยวที่มีการคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนท้องถิ่น และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนร่วมในการคิด วางแผน ปฏิบัติตามแผน ได้รับประโยชน์ติดตามตรวจสอบ ตลอดจนร่วมบำรุงรักษาทรัพยากรการท่องเที่ยว อันจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ในท้องถิ่น ทั้งการกระจายรายได้ การยกระดับคุณภาพชีวิต และการได้รับผลตอบแทนเพื่อกลับมาบำรุงรักษา และจัดการแหล่งท่องเที่ยวด้วย
จากองค์ประกอบหลักที่สำคัญของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศดังกล่าว จะเห็นว่าองค์ประกอบด้านการมีส่วนร่วมนั้นจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ในท้องถิ่น ทั้งการกระจายรายได้ การยกระดับคุณภาพชีวิต และการได้รับผลตอบแทนเพื่อกลับมาบำรุงรักษา และจัดการแหล่งท่องเที่ยวด้วย
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศสามารถทำได้ในลักษณะต่างๆ เช่น การเดินป่า การขี่จักรยานลัดเลาะไปตามไร่นาและชนบท การชมถ้ำ น้ำตก น้ำพุร้อน การไต่เขา ปีนหน้าผา การนั่งเรือหรือล่องแพ การดำน้ำดูปะการัง การเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชุมชนในท้องถิ่น เป็นต้น วิธีการเหล่านี้จะทำให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างแท้จริง ได้เรียนรู้และเห็นคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวและพร้อมที่จะเป็นนักท่องเที่ยวที่ดี การเป็นนักท่องเที่ยวที่ดีจะต้องช่วยกันระมัดระวังและไม่ทำให้แหล่งท่องเที่ยวเกิดความเสื่อมโทรม โดยการไม่ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ไม่เด็ดหรือเหยียบย่ำพืชพรรณไม้ ไม่ขีดเขียนข้อความตามต้นไม้ ผนังถ้ำหรือโขดหิน ไม่ทำลายหินงอกหินย้อยในถ้ำและปะการังใต้ทะเล และให้ความเป็นมิตรกับคนในท้องถิ่น (ไพฑูรย์ พงศะบุตร, 2546)
ปัจจุบันป่าชายเลนในประเทศไทยถูกใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างกว้างขวาง การที่นักท่องเที่ยวได้พายเรือชมความงามของเขาหินปูนควบคู่ไปกับระบบนิเวศที่แปลกตาของป่าชายเลน หรือชมหิ่งห้อยที่ส่องแสงนับหมื่นตัวที่เกาะบนต้นลำพู การได้สัมผัสวิถีชีวิตของชุมชน รวมถึงการลิ้มรสอาหารทะเลที่มาจากป่าชายเลน ย่อมก่อให้เกิดความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนหลายแห่งได้สร้างสะพานทางเดินเข้าไปในป่าชายเลน ทำให้สามารถเดินชมพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด เช่น โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก โปรงขาว โปรงแดง และอื่นๆ และสัตว์ในป่าชายเลน เช่น ปลาตีน ปูก้ามดาบ ปูแสม และนกอีกมากมายได้อย่างสะดวกสบาย ตลอดจนมีป้ายสื่อความหมายเป็นระยะ บางแห่งให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่เป็นวิทยากรบอกเล่าให้ความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลนให้แก่นักท่องเที่ยว ปัจจุบันได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ได้รับความนิยม เช่น ศูนย์ศึกษาและพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ศูนย์การศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และศูนย์วิจัยป่าชายเลนหงาว จังหวัดระนอง เป็นต้น (สรายุทธ และรุ่งสุริยา, 2554)
โครงการป่าในเมือง "สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย"
เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้คนอยู่ร่วมกับป่า สร้างป่า ดูแลป่า ปลูกป่า สร้างป่าชุมชน ทำป่าในเมือง ปลูกไม้ยืนต้นในเขตเมืองให้มากขึ้น โดยภาครัฐร่วมกับท้องถิ่นและชุมชน ดำเนินงานภายใต้การมุ่งเน้นการพัฒนาที่คำนึงถึงเรื่องความสมดุลกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น ในรูปแบบของพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ด้วยการดำเนินโครงการภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นในการอนุรักษ์ผืนป่าในเขตเมือง
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ดำเนินโครงการป่าชายเลนในเมืองมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2563 ได้เปิดพื้นที่ป่าชายเลนในเมืองแล้วทั้งสิ้น 33 แห่ง เนื้อที่รวม 25,440 ไร่ ในพื้นที่ 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง ตราด ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และจังหวัดสตูล โดยในปีงบประมาณ 2564 มีเป้าหมายการดำเนินงาน 2 แห่ง เนื้อที่รวม 3,851 ไร่ และเตรียมขยายพื้นที่และเปิดพื้นที่ป่าในเมืองแห่งใหม่ในอีกหลายพื้นที่ให้ครบ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล
ปี พ.ศ. |
จำนวน (แห่ง) |
เนื้อที่ (ไร่) |
---|---|---|
2561 |
20 |
17,437 |
2562 |
10 |
3,527 |
2563 |
3 |
4,476 |
2564 |
2 |
3,851 |
รวม |
35 |
29,291 |
อ้างอิง:
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2544). ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโฮมสเตย์. กรุงเทพฯ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศ
บุญเลิศ จิตตั้งวัฒนา. (2542). การวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน. พิมพ์ครั้งที่ 1. คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ไพฑูรย์ พงศะบุตร. (2546). การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ, 27. ค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2564, จาก http://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book= 27&chap=3&page=t27-3-infodetail01.html
ราชบัณฑิตยสถาน. (2554). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับบลิเคชั่น.
ศูนย์วิจัยป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2538). โครงการศึกษาการท่องเที่ยวเพื่อรักษาระบบนิเวศ: กรณีภาคใต้. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติไทย. (2542). รายงานขั้นสุดท้ายการดำเนินการเพื่อกำหนดนโยบายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติไทย.
สรายุทธ บุณยะเวชชีวิน และรุ่งสุริยา บัวสาลี. (2554). ป่าชายเลน: นิเวศวิทยาและพรรณไม้. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพมหานคร. บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
The International Ecotourism Society. (2015). What is Ecotourism?. Retrieved February 18, 2022, from https://www.ecotourism.org/what-is-ecotourism/