ข่าวประชาสัมพันธ์

พันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่มีศักยภาพในการเป็นไม้ดอก-ไม้ประดับและไม้ให้ร่มเงา

สามารถอ่านในรูปแบบ E-Book ได้ ตามลิ้งด้านล่าง :
 https://anyflip.com/hyzew/jodm/

1. ฝาดดอกขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Lumnitzera racemosa Willd.
วงศ์ : COMBRETACEAE
ชื่ออื่น : ขวาด (สมุทรสาคร); กะลุง (ชุมพร); ฝาด (ภาคกลาง, ภาคใต้); ฝาดขาว (ภาคกลาง)


 

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็กหรือไม้พุ่ม สูง 8 เมตร เปลือกนอกขรุขระหรือแตกล่อนเป็นแผ่นเล็กๆ สีน้ำตาลแดง มีรากหายใจไม่เด่นชัด

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ พบบ่อยตามพื้นที่ราบที่น้ำทะเลท่วมถึง บางครั้งพบขึ้นเป็นกลุ่มในพื้นที่เปิดโล่ง มักขึ้นได้ดีในที่ระบายน้ำดีหรือเป็นดินทราย พบการกระจายพันธุ์ในแอฟริกาตะวันออก มาดากัสการ์ เอเชียเขตร้อน เกาะกิวริว ตอนเหนือของออสเตรเลีย ตลอดถึงหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก สำหรับการจำแนกหมวดหมู่ใน IUCN Red List นั้น อยู่ในสถานภาพมีความเสี่ยงน้อย (LC)

ใบ เดี่ยว เรียงเวียนสลับ กระจัดกระจายตลอดกิ่ง แผ่นใบรูปใบหอกกลับ รูปรีแกมรูปไข่กลับถึงรูปขอบขนาน ขนาด 1-3x3-9 เซนติเมตร โคนใบสอบเป็นรูปลิ่มแคบ ขอบใบเรียบถึงหยักมนเล็กน้อย ปลายใบกลมถึงเว้าตื้น ด้านบนมีต่อมนูนไม่เด่นและด้านล่างเป็นขีดรอยแผลไม่ชัดเจน เส้นใบมองเห็นไม่ชัดเจน เนื้อใบอวบน้ำ ผิวใบเกลี้ยง แต่ใบอ่อนบางครั้งมีขนปกคลุม ด้านบนสีขาวเรื่อ ด้านล่างสีซีดกว่า ก้านใบสั้น สีเขียวอ่อน ด้านบนนูนเล็กน้อย

ดอก คล้ายช่อเชิงลดไร้ก้าน ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว 2-3 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกย่อยขนาดเล็กสีขาว 5-15 ดอก ไม่มีก้านดอก สมบูรณ์เพศ สมมาตรตามรัศมี ฐานรองดอกและหลอดกลีบเลี้ยงรูปท่อแบนด้านข้างและแคบลงทางส่วนปลาย ยาว 0.6-1 เซนติเมตร มีใบประดับย่อยขนาดเล็ก รูปไข่กว้าง 1 คู่ ติดอยู่เหนือจุดกึ่งกลางเล็กน้อย กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สั้นมาก รูปไข่กว้าง ปลายกลีบเรียวแหลม กลีบดอก 5 กลีบ รูปรีแคบถึงรูปใบหอก ยาว 0.3-0.5 เซนติเมตร แต่ละกลีบแยกจากกัน เกสรเพศผู้ 10 อัน ยาวไล่เลี่ยกับกลีบดอก เรียงซ้อนกันเป็นสองวง ภายในมีไข่อ่อน 2-5 เมล็ด ห้อยหัวลง ออกดอกเดือนสิงหาคม-มีนาคม

ผล คล้ายผลเมล็ดเดียวแข็ง แบน รูปรี ขนาด 0.3-0.5x1-1.4 เซนติเมตร ปลายผลยังคงมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ผิวผลเกลี้ยงหรือมีขนละเอียดสั้นนุ่ม เปลือกเป็นคอร์กหนา มี 1 เมล็ด ออกผลเดือนสิงหาคม-มีนาคม

2. ฝาดดอกแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Lumnitzera littorea (Jack) Voigt
วงศ์ : COMBRETACEAE
ชื่ออื่น : ตำเสาทะเล (พังงา, กระบี่, ตรัง); ฝาดแดง (ภาคกลาง, ภาคใต้)

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูงถึง 25 เมตร เรือนยอดแผ่กว้างไม่สมมาตร เปลือกนอกแตกเป็นร่องลึกตามยาว สีน้ำตาลคล้ำ เปลือกในสีแดงเข้มหรือสีส้ม กิ่งอ่อนสีแดงเรื่อ มีรากหายใจคล้ายรูปหัวเข่า

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ พบขึ้นตามขอบป่าชายเลนที่เปิดโล่ง มักขึ้นเป็นกลุ่มบริเวณปากแม่น้ำที่มีดินเลนแข็งหรือเป็นทราย พบการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียเขตร้อน ตอนเหนือของออสเตรเลีย ตลอดถึงหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก สำหรับการจำแนกหมวดหมู่ใน IUCN Red List นั้น อยู่ในสถานภาพมีความเสี่ยงน้อย (LC)

ใบ เดี่ยว เรียงเวียนสลับ เป็นกระจุกตามปลายกิ่ง แผ่นใบรูปใบหอกกลับ รูปรีแกมรูปไข่กลับถึงรูปขอบขนาน ขนาด 1-3x3-9 เซนติเมตร โคนใบสอบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบเรียบถึงหยักมนเล็กน้อย มีต่อมนูนขนาดเล็กตามรอยหยัก ปลายใบกลมถึงเว้าตื้นๆ ด้านบนมีต่อมนูนขนาดเล็กและด้านล่างเป็นขีดรอยแผลชัดเจน เส้นใบมองเห็นไม่ชัดเจน เนื้อใบอวบน้ำ ผิวใบเกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน ก้านใบสั้นมาก ด้านบนแบนสีแดงเรื่อ

ดอก คล้ายช่อเชิงลดไร้ก้าน ออกตามปลายกิ่ง ยาว 2-5 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกย่อยขนาดเล็กสีขาว 5-15 ดอก ดอกย่อยขนาดเล็ก สีแดง สมบูรณ์เพศ ค่อนข้างสมมาตรทางด้านข้าง ก้านดอกสั้น ฐานรองดอกและหลอดกลีบเลี้ยงรูปท่อ พองออกเล็กน้อยและแบนด้านข้าง ยาว 0.8-1.2 เซนติเมตร มักมีใบประดับย่อย รูปไข่ 1 คู่ ติดอยู่ใต้จุดกึ่งกลาง ส่วนปลายคอดเล็กน้อยแล้วผายออกเป็นแฉกกลีบรูปไข่กว้าง 5 แฉก สีเขียว ขอบแฉกมีขน กลีบดอก 5 กลีบ แยกออกจากกัน หลุดร่วงง่าย เกสรเพศผู้ 10 อัน ยาวเป็นสองเท่าของกลีบดอก เรียงซ้อนเป็น 2 วง ออกดอกระหว่างเดือนสิงหาคม-มีนาคม

ผล คล้ายผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปกระสวยป่องตรงกลาง และมีสันตามยาว ขนาด 0.45-0.5x1.2-1.8 เซนติเมตร ปลายผลยังคงมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ เปลือกเป็นคอร์กหนา ผิวเกลี้ยง ผลแก่มีสีน้ำตาลแดง มี 1 เมล็ด ออกผลระหว่างเดือนสิงหาคม-มีนาคม (ช่วงเดียวกับฝาดดอกขาว)

3. พังกาหัวสุมดอกแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Bruguiera gymnorrhiza (L.) Savigny.
วงศ์ : RHIZOPHORACEAE
ชื่ออื่น : ประสักดอกแดง, โกงกางหัวสุมดอกแดง (ภาคกลาง); พลัก (ชุมพร)

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 20-30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ โคนต้นมีพูพอนสูงและมีช่องอากาศขนาดใหญ่และกระจายทั่วไป รากหายใจคล้ายหัวเข่า กิ่งอ่อนและก้านใบมักมีคราบขาว

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ พบขึ้นในที่เลนแข็งน้ำทะเลท่วมถึงเป็นครั้งคราว นอกจากนี้ยังขึ้นตามริมลำคลองและพื้นที่ดอน ขึ้นแทรกประปรายตามหมู่ไม้โกงกางใบใหญ่และโกงกางใบเล็ก พบการกระจายพันธุ์ในบริเวณชายฝั่งทะเลของประเทศเขตร้อน ตั้งแต่ตอนใต้และตะวันออกของทวีปแอฟริกาถึงเอเชีย ตอนเหนือของออสเตรเลีย หมู่เกาะริวกิว และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก การจำแนกหมวดหมู่ใน IUCN Red List นั้น อยู่ในสภาพมีความเสี่ยงน้อย (LC)

ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ขนาด 4-10×8-20 เซนติเมตร แผ่นใบรูปรีถึงรูปขอบขนานแกมรูปรี โคนใบมนถึงสอบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลมสั้น ๆ เส้นใบแบบร่างแหขนนก มองเห็นไม่ชัดเจน เส้นกลางใบยกตัวและขนาบข้างด้วยคราบสีขาว เส้นแขนง 8-10 คู่ ปรากฏลาง ๆ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอมเหลือง เนื้อใบอวบน้ำแกมเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ก้านใบยาว 3-6 เซนติเมตร ด้านบนเป็นร่องตื้น ๆ โคนสีแดงเรื่อ หูใบแหลมประกบกันเป็นคู่ที่ปลายกิ่ง ยาว 4-6 เซนติเมตร สีแดงเรื่อ หลุดร่วงง่าย

ดอก เดี่ยว ตามง่ามใบ ก้านดอกโค้งลงยาว 1-3 เซนติเมตร ดอกตูมรูปทรงกระสวย ยาว 2.5-3.5 เซนติเมตร เมื่อบานมีลักษณะคล้ายสุ่ม กลีบเลี้ยงสีแดงปนเขียว โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ส่วนปลายแยกเป็นแฉกแคบ ๆ ลึกลงมาประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวทั้งหมด มี (10-)12-14(-16) แฉก ยาว 1.5-2 เซนติเมตร กลีบดอกแยกกัน (10-)12-14(-16) กลีบ รูปขอบขนานสีขาวนวลถึงสีส้มอ่อน ปลายกลีบเว้าลึกลงมาเกือบถึงกลางกลีบ เป็น 2 แฉก ปลายแหลมและกลางร่องแฉกมีรยางค์เป็นเส้นแข็ง 1 เส้น ยาวไม่เกินปลายแฉก ปลายแฉกมีรยางค์ติดอยู่ 3-4 เส้น แต่ละเส้นยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร ขอบกลีบใกล้โคนกลีบมีขนสีขาวเป็นมัน คล้ายเส้นไหมปกคลุม

ผล แบบผลมีเนื้อเมล็ดเดียว รูปทรงไข่คล้ายรูปข่าง ยาว 2-3 เซนติเมตร ผิวเรียบ หลอดจุกผลมีสันนูนเฉพาะส่วนบน เมล็ดงอกตั้งแต่อยู่บนต้น ลำต้นใต้ใบเลี้ยงหรือ “ฝัก” รูปทรงกระสวย ขนาด 1.5-2×10-25 เซนติเมตร เป็นเหลี่ยมหรือมีสันเล็กน้อย โคนฝักสอบทู่ ฝักอ่อนสีเขียวและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเขียวเมื่อแก่

4. เตยทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Pandanus odorifer (Forssk.) Kuntze
วงศ์ : PANDANACEAE
ชื่ออื่น : ลำเจียก, การะเกด (กลาง); ปาหนัน, ปาแนะ (มลายู, นราธิวาส)

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็ก มักแตกแยกกิ่งออกเป็นสองหรือสามง่าม สูง 4-8 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8-20 เซนติเมตร ตั้งตรงหรือเอนชูยอดขึ้น ที่ลำต้นและกิ่งมักมีหนาม ลำต้นขาวอมน้ำตาลอ่อน ๆ มีรากคำจุนที่โคนต้น

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ มักขึ้นเป็นกลุ่มตามแนวหลังป่าชายหาด ไม่พบในพื้นที่ห่างจากทะเลมาก ๆ พบการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียเขตร้อนและแปซิฟิกเขตร้อน สำหรับการจำแนกหมวดหมู่ใน IUCN Red List นั้น อยู่ในสถานภาพมีความเสี่ยงน้อย (LC)

ใบ เดี่ยว เรียงเวียนสลับเป็นเกลียวเกยกันรอบต้นเป็น 3 แถว โคนใบเป็นกาบหุ้มรอบลำต้น แผ่นใบรูปดาบ ขอบใบสองข้างเกือบขนานกัน ปลายใบเรียวแหลมโค้งรูปแซ่ ขนาดใบ 4-8x100-250 เซนติเมตร เมื่อตัดใบตามขวางจะได้เป็นรูปตัว “M” ใบอ่อนปลายใบตรงแข็ง แต่เมื่ออายุมากขึ้นปลายใบจะห้อยตกลงตั้งแต่กลางใบ ด้านท้องใบ
มีนวลเห็นได้ชัด ขอบใบและเส้นกลางใบด้านล่างมีหนามแหลมแข็ง เนื้อใบแข็ง หนา คล้ายแผ่นหนัง

ดอก ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศผู้แยกแขนงเป็นช่อย่อยแบบช่อเชิงลดไร้ก้าน ออกตามง่ามใบ ยาว 30-60 เซนติเมตร มีก้านช่อดอกและใบประดับหุ้มช่อดอกย่อย ช่อดอกย่อยขนาดเล็ก สีนวล มีกลิ่นหอมรุนแรงและเหี่ยวอย่างรวดเร็วหลังจากบานเต็มที่ ดอกเพศเมียออกตามปลายยอด ก้านช่อดอกยาว 10-30 เซนติเมตร มีก้านดอกและใบประดับล่างสุดลักษณะคล้ายใบ ใบประดับบนสุดสั้นสีเหลืองอ่อน ดอกอยู่ชิดติดกันช่อกระจุกแน่น ลักษณะเกือบกลมถึงรูปทรงรี

ผล แบบผลรวม รูปทรงรีหรือเกือบกลม ขนาด 12-20×15-30 เซนติเมตร แต่ละผลประกอบด้วยผลย่อยแบบเมล็ดเดียว แข็ง 4-10 ผล เชื่อมติดกันเป็นรูปลิ่ม มี 5 หรือ 6 เหลี่ยม ขนาด 2-5×14-8 เซนติเมตร จำนวนหลายกลุ่มเรียงชิดติดกันแน่น ปลายผลย่อยมีหนามแหลม 1 อัน ในระยะแรก ผลมีสีขาวอมเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อแก่จะเป็นสีส้มหรือแดง เมล็ดรูปกระสวย แต่ละผลย่อยมี 1 เมล็ด

5. ปรงหนู

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Acrostichum speciosum Willd.
วงศ์ : PTERIDACEAE
ชื่ออื่น : ปรง (ตราด)

ลักษณะทั่วไป เฟิร์นแตกกอ ลักษณะทั่วไปคล้ายกับปรงทะเล แต่เง่าปกคลุมด้วยเกล็ดเล็ก ๆ สีน้ำตาลคล้ำ ยาวประมาณ 0.8 เซนติเมตร มักขึ้นเป็นกอเดี่ยว ๆ พบน้อยที่ขึ้นเป็นกลุ่ม

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ พบขึ้นในพื้นที่น้ำกร่อยค่อนข้างเป็นที่ดอน มีน้ำท่วมถึงเป็นครั้งคราว พบการกระจายพันธุ์ในเขตเอเชียร้อนชื้น และออสเตรเลีย สำหรับการจำแนกหมวดหมู่ใน IUCN Red List นั้น อยู่ในสถานภาพมีความเสี่ยงน้อย (LC)

ใบ ประกอบแบบขนนกปลายใบคี่ ช่อใบขอบขนานแกมรูปใบหอก ขนาด 10-25×30-50 เซนติเมตร ประกอบด้วยใบย่อย 5-10 คู่ ก้านช่อใบ ยาว 30-50 เซนติเมตร เกลี้ยง สีเขียวถึงสีน้ำตาล ด้านบนเป็นร่องตื้น ขอบใบมีหนามสั้น ๆ ซึ่งเกิดจากการลดรูปของใบย่อยกระจายห่าง ๆ หน้าตัดขวางกลุ่มท่อลำเลียงของก้านใบคล้ายรูปวงกลมที่มีจุดศูนย์กลาง ใบย่อยไม่สร้างสปอร์ รูปขอบขนานแกมเรียว เรียงสลับอยู่ตอนล่างของขอบใบ ขนาด 2-6×15-20 เซนติเมตร โคนใบรูปลิ่มถึงมน ไม่สมมาตร ขอบใบเรียบถึงเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น เส้นใบสานกันคล้ายรังผึ้ง เส้นกลางใบนูนเด่น เนื้อใบหยาบ หนา คล้ายแผ่นหนัง ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ใบแห้งสีน้ำตาลอมเขียว ก้านใบย่อยยาวถึง 1 เซนติเมตร ด้านบนราบ ใบย่อยสร้างสปอร์อยู่เฉพาะตอนปลายช่อใบ ลักษณะทั่วไปคล้ายใบที่ไม่สร้างสปอร์ แต่มีขนาดเล็กเรียวกว่า ปลายใบเรียวแหลม อับสปอร์สีน้ำตาลแดงปกคลุมทั่วผิวใบด้านล่าง ยกเว้นเส้นกลางใบ สปอร์โปร่งใส ไม่มีสี

6. ปรงทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Acrostichum aureum L.
วงศ์ : PTERIDACEAE
ชื่ออื่น : ปรงทอง, ปรงไข่, ปรงใหญ่ (ภาคกลาง); บีโย (มลายู-สตูล)

ลักษณะทั่วไป พืชพวกเฟิร์น มีลำต้นเป็นเง่าสั้นตั้งตรง อยู่ใต้ดิน ซูเฉพาะส่วนของใบขึ้นมาเป็นกอส่วนปลายของลำต้นและโคนใบปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดสีน้ำตาลคล้ำ ขอบเรียบ บางใส ขนาด 1.5×4 เซนติเมตร โคนต้นมีรากค้ำยัน หนา อวบ

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ มักขึ้นเป็นกลุ่มตามพื้นที่ป่าใช้เลนด้านใน ริมฝั่งแม่น้ำลำคลองใกล้ปากอ่าว พื้นที่ชุ่มแฉะ และที่เปิดโล่งซึ่งเคยถูกทำลายมาก่อน บางครั้งพบตามที่โล่งในป่าพรุ พบการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนชื้นทั่วโลก สำหรับการจำแนกหมวดหมู่ใน IUCN Red List นั้น อยู่ในสถานภาพมีความเสี่ยงน้อย (LC)

ใบ ประกอบแบบขนนกปลายคี่ ขอบใบรูปขอบขนานแกมรูปหอก ขนาด 20-60×60-180 เซนติเมตรประกอบด้วยใบย่อย 15-30 คู่ ก้านช่อใบอวบอ้วน สีเขียวโทนสีน้ำตาลอ่อนคล้ายฟางข้าว ผิวเกลี้ยง ยาว 1 เมตรด้านบนเป็นร่องตื้น ปลายก้านมีหนามแข็งสั้น ๆ ซึ่งเกิดจากการลดรูปของใบย่อย หน้าตัดขวางของกลุ่มท่อลำเลียงของก้านใบลักษณะคล้ายตัวอักษร “W” ใบย่อยไม่สร้างสปอร์ รูปขอบขนานแคบ ขนาด 4-8×30-50 เซนติเมตร เรียงสลับอยู่ตอนล่างของช่อใบ โคนใบรูปลิ่มถึงมนไม่สมมาตร ขอบไปเรียบ บางใส ปลายใบกลมถึงเว้าบุ๋ม และมีติ่งหนามสั้น ๆ เส้นใบสานกันคล้ายรังผึ้ง เส้นกลางใบนูนเด่น เนื้อใบหยาบ หนา คล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ใบแห้งสีน้ำตาลอมเขียว ก้านใบย่อยยาวถึง 2.5 เซนติเมตร ด้านบนแบนราบ ใบย่อยสร้างสปอร์อยู่ตอนปลายของช่อใบ ลักษณะทั่วไปคล้ายใบที่ไม่สร้างสปอร์แต่มีขนาดเล็กกว่า อับสปอร์สีน้ำตาลแดง ปกคลุมทั่วผิวใบด้านล่าง สปอร์โปร่งใส ไม่มีสี

7. เทียนทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Pemphis acidula J. R. & G. Forst.
วงศ์ : LYTHRACEAE
ชื่ออื่น : เทียนเล (สุราษฎร์ธานี)

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 2-10 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มแน่นทึบ เปลือกเรียบสีเทาถึงน้ำตาล อายุมากขึ้นจะแตกเป็นร่องลึกตามแนวยาว แล้วม้วนล่อนเป็นแถบ กิ่งแตกไม่เป็นระเบียบ กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมมีขนสั้นนุ่มปกคลุม

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ พบขึ้นตามชายฝั่งทะเลที่เปิดโล่ง ดินเป็นทรายระบายน้ำดี และตามหาดหิน พบน้อยตามขอบป่าชายเลนที่ดินเป็นทรายจัด พบการกระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกาตะวันออก เอเชียเขตร้อน ตอนเหนือของออสเตรเลีย และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงเกาะฮ่องกง ในมาเลเซียพบเฉพาะชายฝั่งด้านตะวันออกของประเทศ สำหรับการจำแนกหมวดหมู่ใน IUCN Red List นั้น อยู่ในสถานภาพมีความเสี่ยงน้อย (LC)

ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบที่ปลายกิ่งเรียงชิดกันคล้ายกลีบกุหลาบ แผ่นใบรูปขอบขนานแกมรูปรีถึงรูปใบหอกกลับ ขนาด 0.3-1×1-3 เซนติเมตร โคนใบสอบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบเรียบปลายใบมนกลมถึงแหลม เส้นใบแบบร่างแหขนนกมองเห็นไม่ชัด เส้นกลางใบยกตัว ผิวใบสีเขียวหม่น มีขนนุ่มปกคลุมทั้งสองด้าน เนื้อใบอวบน้ำ หนาประมาณ 0.2 เซนติเมตร ก้านใบสั้น ยาวไม่เกิน 0.2 เซนติเมตร

ดอก เดี่ยว ออกดอกตามง่ามใบ พบน้อยที่ออกเป็นคู่หรือกระจุกสั้น ๆ ดอกตูมสีแดงอมชมพู ดอกบานขนาดเล็กสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 0.5-1.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงยาว 0.3-0.7 เซนติเมตร โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง มีสันตามยาว 12 สัน ปลายแยกเป็นแฉกหนา 6 แฉก สลับกับรูปสามเหลี่ยมเล็ก ๆ 6 แฉก แฉกกลีบเลี้ยงจรดกัน มีขนอ่อนปกคลุมหนาแน่น กลีบดอก 6 กลีบ รูปไข่กว้างยาว 0.3-0.8 เซนติเมตร เรียงจรดกัน ติดกับผนังด้านในของปากหลอดกลีบเลี้ยง ขอบกลีบพับย่น โคนกลีบคอดเป็นก้านสั้น ออกดอกเกือบตลอดปี

ผล แบบผลแห้งแตกแบบฝาเปิด รูปทรงไข่กลับหรือทรงรี เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.4-0.8 เซนติเมตร ตัวผลห่อหุ้มด้วยหลอดกลีบเลี้ยง ปลายผลมีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ ผิวเกลี้ยง เมล็ดแบนรูปลิ่มแกมรูปไข่กลับ ขอบแผ่เป็นปีกสอบไปทางด้านล่าง แต่ละผลมีเมล็ดจำนวนมาก (20-30 เมล็ด) ออกผลเกือบตลอดทั้งปี

8. รามใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Ardisia elliptica Thunb.
วงศ์ : PRIMULACEAE
ชื่ออื่น : ลังพิสา (ตราด); ทุรังกาสา (ชุมพร); ปือนา (มลายู-นราธิวาส)

ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่ม แตกกิ่งต่ำ สูง 1-4 เมตร บางครั้งอาจสูงถึง 10 เมตร ลำต้นและกิ่งเรียบเกลี้ยง สีน้ำตาลอมเทา กิ่งอ่อนมนกลม หรือเหลี่ยมเล็กน้อย สีแดงอมน้ำตาล

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ พบขึ้นกระจายตามชายฝั่งทะเล ริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง หรือปากแม่น้ำแนวหลังป่าชายเลน และป่าดิบชื้น พบการกระจายพันธุ์ในบริเวณตอนใต้ของประเทศอินเดีย ศรีลังกา และเอเชียตะวันออกเชียงใต้ สำหรับการจำแนกหมวดหมู่ใน IUCN Red List นั้น ยังไม่ได้รับการประเมิน (NE)

ใบ เดี่ยว เรียงเวียนสลับ แผ่นใบรูปรี รูปใบหอกกลับถึงรูปไข่กลับ ขนาด 3-5.5×6-14 เซนติเมตร โคนใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ มีจุดเล็ก ๆ สีเขียวอ่อนแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อใบแก่ ปลายใบกลมทื่อถึงแหลม ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีจุดโปร่งแสงสีเขียวคล้ำกระจายทั่วแผ่นใบ ด้านบนสีเขียวคล้ำ ด้านล่างสีเขียวนวล เนื้อใบคล้ายแผ่นหนัง นุ่ม อวบน้ำ ก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร เส้นใบแบบร่างแหขนนก เส้นกลางใบยกตัว เส้นแขนง 12-14 คู่ เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแห มองไม่เห็นชัด

ดอก แบบช่อเชิงลดรูปพัดคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง แต่ละช่อมี 5–8 ดอก ก้านช่อดอกยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยเรียวยาว 1-1.5 เซนติเมตร ดอกตูมทรงกรวยยาว 0.5-0.7 เซนติเมตร ดอกบานรูปวงล้อสีชมพู กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่กว้างถึงรูปมนกลม 5 แฉก เรียงบิดเวียน ฐานวงกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ มีต่อมเล็ก ๆ หนาแน่น กลีบดอกแหลม 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 5 อัน อับเรณูรูปใบหอก ออกดอกระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน

ผล เป็นเมล็ดเดียวแข็ง รูปกลมแป้น ด้านแนวนอนยาวกว่าแนวตั้ง เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6-0.8 เซนติเมตร ปลายผลมีติ่งแหลมสั้น เนื้อผลนุ่ม ผลสีแดงเรื่อก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อสุก มี 1 เมล็ด ออกผลระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน

9. ตีนเป็ดทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Cerbera odollam Gaertn.
วงศ์ : APOCYNACEAE
ชื่ออื่น : ตีนเป็ดทะเล, ตีนเป็ด, ตีนเป็ดน้ำ (กลาง); สั่งลา (กระบี่); ตุม (กาญจนบุรี);มะตะกอ (มลายู-นราธิวาส)

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 5-10 เมตร กิ่งอวบอ้วน เรือนยอดโปร่ง มักแตกกิ่งต่ำคล้ายไม้พุ่ม เปลือกนอกเรียบสีเทา มีช่องอากาศกระจายทั่วไป เปลือกชั้นในสีเหลืองอ่อน มีน้ำยางข้นสีขาวตามส่วนต่าง ๆ

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ พบขึ้นทั่วไปตามป่าชายเลนชั้นใน ริมฝั่งแม่น้ำลำคลองที่น้ำทะเลท่วมถึง รวมถึงคลองที่น้ำค่อนข้างจืด พบการกระจายพันธุ์ในประเทศศรีลังกา อินเดีย เอเชียตะวันออกเชียงใต้ ตลอดถึงตอนเหนือของออสเตรเลีย สำหรับการจำแนกหมวดหมู่ใน IUCN Red List นั้น อยู่ในสถานภาพมีความเสี่ยงน้อย (LC)

ใบ เดี่ยว เรียงเวียนสลับเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง แผ่นใบรูปหอกกลับ รูปใบหอกกลับแกมรูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ โคนใบสอบเป็นรูปลิ่มแคบ ขนาด 4-7×15-30 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ปลายใบเป็นติ่งแหลมอ่อน เส้นใบแบบร่างแหขนนก เส้นกลางใบยกตัว เส้นแขนง 20-30 คู่เรียงขนานกันเกือบตั้งฉากกับเส้นกลางใบ ส่วนปลายโค้งงอจรดกัน เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแห เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ด้านบนสีเขียวคล้ำเป็นมัน ด้านล่างสีซีดกว่า ใบแก่ก่อนร่วงสีส้ม ก้านใบยาว 2-3 เซนติเมตร

ดอก แบบช่อกระจุกออกตามปลายยอด ช่อดอกไม่สมมาตร ดอกย่อยสีขาวคล้ายดอกตีนเป็ดทราย แต่กลางดอกเป็นแท่งสีเหลือง ก้านดอกย่อยยาว 1.5-4 เซนติเมตร ใบประดับย่อยสีเขียวอ่อน รูปไข่หลุดร่วงเร็ว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอกแคบ สีเขียวอ่อน หลุดร่วงระหว่างดอกบาน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดปากแตร ยาว 1.5-2 เซนติเมตร กลีบดอกยาวกว่าหลอดดอกเล็กน้อย ออกดอกเกือบตลอดทั้งปี

ผล แบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม มีสองพูตื้น ขนาด 4-7×5-8 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยงสีเขียวเป็นมัน แก่จัดสีเขียวอมม่วงถึงม่วงเข้ม ผนังผลชั้นในเป็นเส้นใย เมล็ดแบน รูปทรงไข่ มี 1-2 เมล็ด ออกผลเกือบตลอดทั้งปี

10. ตีนเป็ดทราย

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Cerbera manghas L.
วงศ์ : APOCYNACEAE
ชื่ออื่น : ตีนเป็ดทราย (ปัตตานี); ตีนเป็ดเล็ก (ภาคกลาง); เทียนหนู, เนียนหนู (สะตูล); ปงปง (พังงา);ปากเป็ด (ตราด); มะตากอ (มลายู นราธิวาส); รักขาว (จันทบุรี)

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 5-10 เมตร เรือนยอดโปร่ง มักแตกกิ่งต่ำคล้ายไม้พุ่ม กิ่งอวบอ้วน เปลือกนอกเรียบสีเทา มีช่องอากาศกระจายทั่วไป เปลือกชั้นในสีเหลืองอ่อน มีน้ำยางข้นสีขาวตามส่วนต่าง ๆ

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ พบขึ้นตามชายฝั่งทะเลที่เป็นดินเลนปนทรายและหาดหิน พบบ้างตามรอยต่อของแนวหลังป่าชายเลนกับป่าชายหาด พบการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดถึงตอนเหนือของออสเตรเลีย สำหรับการจำแนกหมวดหมู่ใน IUCN Red List นั้น อยู่ในสถานภาพมีความเสี่ยงน้อย (LC)

ใบ เดี่ยว เรียงเวียนสลับเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง แผ่นใบรูปหอกกลับ รูปใบหอกกลับแกมรูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ขนาด 3-6×10-25 เซนติเมตร โคนใบสอบเข้าหาก้านใบเป็นรูปลิ่มแคบ ๆ ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลมเป็นติ่งทื่อ เส้นใบแบบร่างแหขนนก เส้นกลางใบยกตัว เส้นแขนง 15–25 คู่ โค้งคล้ายคันศร เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ด้านบนสีเขียวคล้ำเป็นมัน ด้านล่างสีซีดกว่า ใบแก่ก่อนร่วงสีส้ม ก้านใบยาว 1-2 เซนติเมตร

ดอก แบบช่อกระจุก ออกตามปลายยอด ช่อดอกโปร่งแข็งไม่สมมาตร ยาว 12-30 เซนติเมตร แต่ละช่อมีหลายดอก ดอกย่อยขนาดใหญ่รูปแตรสีขาว ตรงกลางสีแดง ดอกบานมีมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร ใบประดับย่อยสีเขียวอ่อนรูปไข่ หลุดร่วงเร็ว ยาว 1-2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เรียงจรดกัน แผ่นกลีบรูปใบหอกแคปสีขาวแกมเขียวอ่อน ขนาด 0.3-0.6×1.5-2 เซนติเมตร กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปปากแตร ยาว 2.5-4 เซนติเมตร ออกดอกเกือบตลอดทั้งปี

ผล แบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปไข่ หรือรูปรี ขนาด 3-5×5-8 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง สีเขียวเป็นมัน เมื่อสุกเป็นสีม่วง ผนังผลชั้นในเป็นเส้นใย เมล็ดแบนรูปทรงรี แต่ละผลมี 1-2 เมล็ด ออกผลเกือบตลอดทั้งปี

11. ลำแพน

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Sonneratia ovata Backer
วงศ์ : LYTHRACEAE
ชื่ออื่น : ลำพูหิน

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นไม่ผลัดใบ ขนาดเล็กถึงกลาง สูง 4-12 เมตร แตกกิ่งต่ำ กิ่งแขนงมักเป็นสี่เหลี่ยมเปราะ เปลือกเรียบถึงแตกเป็นร่องตามยาวตื้น ๆ สีน้ำตาลอมชมพูถึงน้ำตาลอมเทา ราคหายใจรูปคล้ายหมุด สูง 15-30 เซนติเมตร

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ พบขึ้นตามริมฝั่งแม่น้ำที่น้ำทะเลท่วมถึง หรือตามแนวหลังป่าชายเลนที่น้ำมีความเค็มเล็กน้อยและเลนค่อนข้างเหนียว พบการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย กัมพูชา มาเลเซีย และหมู่เกาะมลายู (ยกเว้นบอร์เนียว) อินโดนิเซียตลอดถึงปาปัวนิวกินี และควีนแลนด์ สำหรับการจำแนกหมวดหมู่ใน IUCN Red List นั้น อยู่ในสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (NT)

ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก แผ่นใบรูปไข่ถึงรูปเกือบกลม ขนาด 3-8×4-10 เซนติเมตร โคนใบกลมถึงเกือบตัด ขอบใบเรียบ ปลายใบมนกลม ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน เนื้อใบอวบน้ำ ด้านบนสีเขียวคล้ำ ด้านล่างสีซีดกว่า ก้านใบแคบยาว 0.5-1.5 เซนติเมตร

ดอก เดี่ยว หรือเป็นช่อกระจุกสองด้าน ออกตามปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 1-2 เซนติเมตร ดอกตูมรูปทรงไข่กว้าง สีเขียวอมเหลือง ยาว 2-3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นท่อสั้น ๆ แล้วผายออกเป็นรูประฆัง มีสันเด่นชัด ปลายแยกเป็น 6(-8) แฉก รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ด้านนอกนุ่มคล้ายกำมะหยี่ และมีแต้มสีชมพูเรื่อที่โคนกลีบด้านใน กลีบดอกไม่ปรากฏ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านเกสรเพศผู้สีขาว ก้านเกสรเพศเมียสีเขียวอ่อน ยาวกว่าเกสรเพศผู้เล็กน้อย ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม ออกดอกตลอดทั้งปี

ผล แบบผลมีเนื้อหลายเมล็ด รูปทรงกลมแป้นคล้ายตลับ ปลายบุ๋มและมีติ่งแหลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4.5×2.5-3.5 เซนติเมตร สีเขียวเข้ม ตั้งบนหลอดกลีบเลี้ยงแผ่แบนเป็นจานรองรับตัวผล แฉกกลีบเลี้ยงงอหุ้มติดโคนผล ผลสุกเนื้อนิ่ม มีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมากฝังอยู่ในเนื้อผล ออกผลตลอดทั้งปี

12. สารภีทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Calophyllum inophyllum L.
วงศ์ : CALOPHYLLACEAE
ชื่ออื่น : กระทิง, กาทึง, กากระทึง, กากะทิง (ภาคกลาง), ทิง (กระบี่), เนาวกาน (น่าน),สารภีแนน (ภาคเหนือ)

ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 5-17 เมตร ไม่ผลัดใบ ไม่มีพูพอน เปลือกสีน้ำตาลถึงสีเทาค่อนข้างเข้ม มีรอยแตกเป็นร่องลึก มีน้ำยางเหนียวสีขาวถึงเหลือง ตายอดเป็นรูปกรวยคว่ำ มีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมประปราย กิ่งค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ พบขึ้นทั่วไปตามป่าชายหาด บางครั้งพบตามขอบแนวหลังป่าชายเลน พบการกระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกาตะวันออกตลอดถึงประเทศไต้หวัน และนิวแคลิโดเนีย สำหรับการจำแนกในหมวดหมู่ IUCN Red List นั้น อยู่ในสถานภาพมีความเสี่ยงน้อย (LC)

ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก แผ่นใบรูปรี รูปไข่ รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ขนาด 4-10×8-17 เซนติเมตร ปลายใบกลมถึงเว้าบุ๋มหรือแหลมเล็กน้อย ฐานใบรูปลิ่มถึงกลม เป็นครีบที่โคน ขอบใบเรียบเป็นคลื่นยาว ใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านท้องใบสีจางกว่า เนื้อใบหนาคล้ายหนัง เส้นใบมีจำนวนมากเรียงชิดและขนานกัน ก้านใบยาว 1-2.8 เซนติเมตร

ดอก แบบช่อเชิงลดมีก้าน ออกตามง่ามใบ ยาว 10-15 เซนติเมตร แต่ละช่อมี 5-15 ดอก ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร สีขาว กลีบรวม 8 กลีบ เรียงซ้อนเป็นสองชั้น ชั้นนอก 2 คู่ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากกัน ชั้นใน 4 กลีบ เรียงเป็นวงซ้อนเหลื่อมกัน เกสรเพศผู้มีจำนวนไม่แน่นอน โคนก้านติดกัน ออกดอกเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม

ผล เป็นผลเมล็ดเดียว แข็ง ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 เซนติเมตร ปลายผลเป็นติ่งแหลม ผลอ่อนสีเขียวเป็นมัน มี 1 เมล็ด รูปทรงมนกลมสีน้ำตาลอ่อน เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลอมเขียว มีรอยย่น ออกผลเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน

13. จิกทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Barringtonia asiatica (L.) Kurz
วงศ์ : LECYTHIDACEAE
ชื่ออื่น : จิกเล, โดนเล (ภาคใต้); อามุง (มลายู-นราธิวาส)

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นไม่ผัดใบ ขนาดสูง 8-15 เมตร เรือนยอดแผ่เป็นพุ่มกว้าง แตกกิ่งขนาดใหญ่ระดับต่ำ ตามกิ่งมีรอยแผลใบกระจายทั่วไป เปลือกสีเทาคล้ำ ขรุขระถึงแตกเป็นร่องตามยาวในต้นแก่ เป็นพืชชายฝั่ง

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ พบขึ้นทั่วไปตามชายฝั่งทะเลที่เป็นหาดหินหรือหาดทราย พบน้อยบริเวณขอบแนวหลังป่าชายเลน พบการกระจายพันธุ์ในบริเวณหมู่เกาะโคโมโร เกาะมาดากัสการ์ตลอดถึงอินเดีย เอเชียตะวันออกเชียงใต้ และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก สำหรับการจำแนกหมวดหมู่ใน IUCN Red List นั้น อยู่ในสถานภาพมีความเสี่ยงน้อย (LC)

ใบ เดี่ยว เรียงเวียนสลับเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง แผ่นใบขนาดใหญ่รูปไข่กลับ ขนาด 10-25×30-50 เซนติเมตร โคนใบแหลมหรือเป็นรูปติ่งหูตื้น ๆ ขอบใบเรียบ ปลายใบกลม เส้นใบแบบร่างแหขนนก เส้นกลางใบยกตัว เส้นแขนง 10-18 คู่ เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแห เนื้อใบอวบน้ำคล้ายแผ่นหนังนุ่ม ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันวาว ด้านล่างสีซีดกว่า ก้านใบอวบสั้น

ดอก แบบช่อเชิงรด มีก้านออกตามปลายกิ่ง ช่อดอกสั้นตั้งตรง แต่ละช่อมีประมาณ 7 ดอก ดอกย่อยขนาดใหญ่สีขาว ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 7-10 เซนติเมตร ใบประดับรูปไข่ ไม่มีก้าน ใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยม ก้านดอกย่อยยาว 4-6 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนติดแน่นเป็นเนื้อเดียวกันในดอกตูม และเปิดออกเป็นสองกลีบเมื่อบาน แต่ละกลีบรูปมนกลม ขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอก 4 กลีบเรียงซ้อนเหลื่อมกัน รูปรี โค้งออก ออกดอกระหว่างเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน

ผล แบบผลเมล็ดเดียวแข็ง ขนาดใหญ่ รูปทรงสี่เหลี่ยม ฐานเว้าคล้ายปิระมิด เส้นผ่านศูนย์กลาง 10-15 เซนติเมตร ผิวสีเขียวเป็นมัน ปลายผลมีกลีบเลี้ยง 2 กลีบ ติดอยู่ เปลือกผลเป็นเส้นใยหนาคล้ายเปลือกมะพร้าว ผลแก่ไม่แตก ผิวสีน้ำตาลเป็นมัน เบา ลอยน้ำได้ มี 1 เมล็ด ออกผลระหว่างเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน

14. หยีทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Pongamia pinnata (L.) Pierre
วงศ์ : FABACEAE
ชื่ออื่น : กายี, ราโยค (ภาคใต้); ขยี้ (ชุมพร); เพาะดะปากี้ (มลายู-สงขลา); ปารี (มลายู-นราธิวาส);มะปากี (มลายู-ปัตตานี)

ลักษณะทั่วไป ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง สูง 5-15 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง ลำต้นมักคดงอ แตกกิ่งมาก เปลือกเรียบ สีเขียวแกมน้ำตาลถึงน้ำตาลเทาคล้ำ

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ พบทั่วไปตามขอบป่าพรุ ริมฝั่งแม่น้ำลำคลองที่เป็นดินเลน และบริเวณที่เป็นดินเลนร่วนปนทรายใกล้ชายฝั่ง พบการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย เอเชียตะวันออกเชียงใต้ ไต้หวัน หมู่เกาะริวกิว ตลอดถึงหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก สำหรับการจำแนกหมวดหมู่ใน IUCN Red List นั้น อยู่ในสถานภาพมีความเสี่ยงน้อย (LC)

ใบ ประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับถึงเวียนสลับห่าง ๆ ก้านช่อใบยาว 4-6 เซนติเมตร โคนป่อง ประกอบด้วยใบย่อย 5–7 ใบ เรียงตรงกันข้าม แผ่นใบรูปไข่ รูปไข่แกมรูปขอบขนานถึงรูปรี เรียงจากเล็กไปใหญ่ ใบย่อยคู่ล่างขนาด 5-7×7-15 เซนติเมตร ใบยอดขนาด 6-10×10-16 เซนติเมตร โคนใบกลมมน ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม เส้นใบแบบร่างแหขนนก เส้นแขนง 6–8 คู่ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีซีดกว่า ก้านใบย่อยยาว 0.5-1 เซนติเมตร หูใบขนาดเล็ก หลุดร่วงง่าย

ดอก แบบช่อเชิงลด มีก้านออกตามง่ามใบ ยาว 10-20 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยรูปดอกถั่วขนาดเล็ก สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพู ชมพูอมแดงถึงม่วง กลีบเลี้ยงโคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง แฉกกลีบเลี้ยงฝ่อหรือลดรูปลง กลีบดอก 5 กลีบ กลีบบนคล้ายรูปโล่ ยาว 1-1.5 เซนติเมตร ผิวด้านนอกมีขนสั้นนุ่มปกคลุม ก้านกลีบมีรยางค์เด่น 1 คู่ กลีบคู่ข้างรูปขอบขนาน ไม่สมมาตร ส่วนล่างของกลีบคู่ล่างเชื่อมติดกันเป็นรูปเรือยาวกว่ากลีบบนเล็กน้อย ผิวด้านนอกของกลีบคู่ล่างและกลีบคู่ข้าง มีขนสั้นนุ่มปกคลุมประปราย เกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นแผ่น ออกดอกระหว่างเดือนมกราคม–พฤษภาคม

ผล แบบฝักถั่ว (ฝักมีจะงอย) หนาโป่งออก รูปทรงขอบขนานถึงรูปรี โค้งเล็กน้อยขนาด 2-4×4-7 เซนติเมตร ปลายฝักจะเป็นจะงอยสั้น ๆ ขอบอวบหนา ผิวเกลี้ยง ฝักแก่สีน้ำตาลไม่แตก เมล็ดสีแดงคล้ำรูปโล่แกมรูปทรงขอบขนาน ขนาด 1.5×2 เซนติเมตร มีหนึ่งเมล็ด ฝักแก่ระหว่างเดือนกรกฎาคม–ธันวาคม

15. กะพ้อ

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Licuala paludosa Griff.
วงศ์ : ARECACEAE
ชื่ออื่น : กะพ้อหนาม (ภาคกลาง) กะพ้อเขียว พ้อ (ภาคใต้) กูวาแมเราะ (มลายู – นราฯ) ขวน, พ้อพรุ (นราธิวาส)

ลักษณะทั่วไป กะพ้อเป็นไม้ปาล์ม ต้นแตกกอ ขนาดเล็กสูง 3-5 เมตร มีลักษณะเรือนยอดเป็นรูปพัดหรือคล้ายร่มหรือครึ่งวงกลม มีชื่อสามัญภาษอังกฤษว่า mangrove fan palm ลำต้นมีรอยกาบจาง ๆ มักมีกาบใบหรือใบแห้งที่ไม่หลุดร่วงปกคลุม บางครั้งแตกหน่อขึ้นอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มหนาแน่น

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ พบการกระจายพันธุ์บริเวณภาคใต้ของประเทศไทย ในบริเวณที่ลุ่มน้ำท่วมขัง ทั้งในที่ร่มและที่โล่งตามชายป่า ที่ทรายริมทะเลเป็นไม้พุ่ม ปาล์มพื้นเมืองที่มีอยู่ทั่วไปในบ้านเรา มักขึ้นเป็นกออยู่ริมทะเล หรือในที่ซึ่งน้ำเค็มขึ้นถึง หรือขึ้นตามป่าดอนในที่ชุ่มชื้นและที่แฉะ เมื่อเจริญเติบโตไปสักระยะหนึ่งจะเกิดหน่ออกมาตามบริเวณโคนต้นมากมาย

ใบ เป็นใบประกอบลักษณะคล้ายนิ้วมือ ดูคล้ายใบเดี่ยว ตั้งขึ้นและแผ่ออก 10-15 ทาง เรียงเวียนสลับซ้อนกันเป็นกระจุกที่ปลายยอด ช่อใบรูปพัด ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 100-150 เซนติเมตร ใบย่อยเว้าลึกถึงแก่นกลาง และแผ่เป็นรัศมี 15-25 แฉก แผ่นแฉกใบพัดกลีบรูปขอบขนานหรือรูปลิ่ม ปลายแฉกตัดหรือหยิกซิกแซกไม่สม่ำเสมอ เส้นใบแบบขนานตามความยาวของใบ ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีซีดกว่า ขอบก้านใบมีหนามโค้งเรียงไม่เป็นระเบียบ ขอบกาบมีรกหรือเส้นใยหยาบสีน้ำตาลสานกันห่อหุ้มลำต้น

ดอก เป็นแบบดอกช่อ แบบช่อเชิงลดไม่มีก้าน แยกแขนงออกช่อตามง่ามใบ 2-3 ช่อ ช่อดอกตั้งขึ้นโค้งแล้วแผ่ออก แต่ละช่อแตกแขนง 7-10 กิ่ง แต่ละกิ่งประกอบด้วยช่อย่อย 3-4 ช่อ ดอกสมบูรณ์เพศขนาดเล็ก ดอกตูมรูปทรงไข่ ไร้ก้านสีขาวแกมเขียวอ่อน กลีบเลี้ยงขนาดเล็กมีโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม 3 แฉก ออกดอกเดือนมกราคม

ผล เป็นเมล็ดเดียวแข็ง รูปทรงกลม ผิวเกลี้ยงเป็นมัน สีส้มหรือแดง เนื้อผลชุ่มน้ำ ผนังผลชั้นในบางและแข็งคล้ายหิน มี 1 เมล็ด ออกผลในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

16. หูกวาง

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Terminalia catappa L.
วงศ์ : COMBRETACEAE
ชื่ออื่น : โคน (นราธิวาส); ดัดมือ, ตัดมือ (ตรัง); ตาปัง (สตูล); หลุมปัง (ใต้,สุราษฎร์ธานี);

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นผลัดใบ ขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 10-25 เมตร กิ่งแตกเป็นชั้นรอบลำต้นและแผ่กว้างในแนวระนาบเป็นชั้น ๆ คล้ายฉัตร เปลือกนอกเรียบ สีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล เมื่อแก่เกลี้ยง

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ พบขึ้นทั่วไปตามหาดทราย หาดหิน พบบ้างตามแนวหลังป่าชายเลนที่เป็นดินร่วนปนทราย พบการกระจายพันธุ์ในมาดากัสการ์ เอเชียเขตร้อน ตลอดถึงตอนเหนือของออสเตรเลีย สำหรับการจำแนกหมวดหมู่ใน IUCN Red List นั้น อยู่ในสถานภาพมีความเสี่ยงน้อย (LC)

ใบ เดี่ยว เรียงเวียนสลับเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง แผ่นใบรูปไข่กลับ ขนาด 8-15×10-25 เซนติเมตร โคนใบรูปหัวใจแคบ ขอบใบเรียบ ปลายใบกลมถึงแหลมเป็นติ่งสั้น เส้นใบแบบร่างแหขนนก เส้นกลางใบยกตัว เส้นแขนง 6–9 คู่ เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแหกึ่งขั้นบันได มีต่อมนูน 1 คู่ ติดอยู่ใกล้โคนเส้นกลางใบ เนื้อใบคล้ายแผ่นหนังบาง ๆ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีซีดกว่า ก้านใบอวบอ้วน ยาว 0.5-1.2 เซนติเมตร ผลัดใบปีละสองครั้ง ระหว่างเดือนมกราคม–กุมภาพันธ์ และเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

ดอก แบบช่อเชิงลดไร้ก้าน ออกตามง่ามใบยาว 10-12 เซนติเมตร ดอกย่อยขนาดเล็กสีขาว สมมาตรตามรัศมี ไม่มีก้านดอก ดอกสมบูรณ์เพศ และดอกเพศผู้อยู่บนช่อเดียวกัน ดอกสมบูรณ์เพศออกตามโคนช่อ รูปกงล้อ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.7 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดยาว 0.2-0.4 เซนติเมตร มีขนปกคลุมตอนบนผายออกเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ปลายแยกเป็นแฉก กลีบรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ 5 แฉก ไม่มีกลีบดอก จานฐานดอกปกคลุมด้วยขนหนาแน่น

ผล แบบผลเม็ดเดียวแข็ง รูปทรงไข่ถึงรีกว้าง ค่อนข้างแบนทางด้านข้าง ขนาด 2-5×3-7 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง เนื้อผลชั้นกลางเป็นเส้นใย ผลสุกสีเหลืองหรือส้มอมแดง ผลแห้งสีดำเป็นมันวาว เบา มี 1 เมล็ด

17. นนทรี

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Peltophorum pterocarpum (DC.) Backer ex K. Heyne
วงศ์ : FABACEAE
ชื่ออื่น : นนทรี (ภาคกลาง); กระถินป่า, กระถินแดง (ตราด); สารเงิน (แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทั่วไป ไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 10-25 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง เปลือกแตกเป็นร่องตามยาวหรือล่อนเป็นสะเก็ด สีเทาถึงน้ำตาลคล้ำ กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีสนิมปกคลุม

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ พบขึ้นตามรอยต่อระหว่างป่าชายเลนกับชายหาด พบการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดถึงตอนเหนือของออสเตรเลีย และหมู่เกาะใกล้เคียง สำหรับการจำแนกหมวดหมู่ใน IUCN Red List นั้น ยังไม่ได้รับการประเมิน (NE)

ใบ ประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียนสลับ ประกอบด้วยแขนงช่อใบย่อยแบบขนนกปลายคู่ เรียงตรงกันข้าม 15-20 คู่ แต่ละแขนงมีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน 10-22 คู่ แผ่นใบย่อยรูปขอบขนาน ขนาด 0.5-0.8×1-1.8 เซนติเมตร โคนใบมน เยื้อง ขอบใบเรียบ ปลายใบเว้าตื้น เส้นใบแบบร่างแหขนนก เส้นกลางใบยกตัวเล็กน้อย เส้นแขนง 6-10 คู่ เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแห เนื้อใบบางคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านบนเกือบเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นหนานุ่มสีสนิมปกคลุม ก้านใบย่อยสั้นมาก ก้านช่อใบยาว 6-10 เซนติเมตร โคนบวมพอง แกนกลางช่อใบยาว 20-30 เซนติเมตร หูใบคล้ายแส้ขนาดเล็ก หลุดร่วงง่าย

ดอก แบบช่อเชิงลดมีก้านแยกแขนงขนาดใหญ่ ออกตามปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งขึ้น ยาว 25-40 เซนติเมตร ดอกย่อยสีเหลือง มีกลิ่นหอม ก้านดอกย่อยยาว 0.3-0.7 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ขนาด 0.4-0.6×0.4-0.8 เซนติเมตร ด้านนอกมีขนสั้นหนานุ่มสีสนิม กลีบดอกบอบบาง 5 กลีบ รูปไข่กลับ ขนาดประมาณ 1×2 เซนติเมตร ขอบกลีบเป็นคลื่น โคนกลีบมีขนปกคลุมหนาแน่น เกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านเกสรยาว 1.2-1.5 เซนติเมตร รังไข่มีขนปกคลุม ภายในมีไข่อ่อน 3–4 เมล็ด ออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม

ผล แบบฝักถั่ว (ฟักหักข้อ) แบน รูปทรงรีถึงรูปแถบแกมรูปใบหอก สีน้ำตาลอมแดง ขนาด 2-4×10-13 เซนติเมตร โคนและปลายฝักสอบ ขอบแบนคล้ายปีก ผิวเกลี้ยงและมีลายฝักตามยาว ฝักแห้งไม่แตก เมล็ดแบนรูปทรงขอบขนานสีเหลืองอมน้ำตาล ขนาด 0.4-0.6×1-1.2 เซนติเมตร เรียงเป็นแถวตามยาว มี 1–4 เมล็ด ฝักแก่ระหว่างเดือนเมษายน-ตุลาคม

18. มะพลับ

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Diospyros areolata King & Gamble
วงศ์ : EBENACEAE
ชื่ออื่น : พลับ,มะพลับ (ภาคกลาง); เนียน (ตรัง)

ลักษณะทั่วไป ไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ขนาดเล็กถึงกลาง สูง 5-15 เมตร เรือนยอดรูปกรวยคว่ำ ลำต้นมักคดงอ เปลือกนอกค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด และเป็นหลุมตื้น ๆ สีน้ำตาลเทาถึงคล้ำ เปลือกชั้นในสีน้ำตาล ยอดอ่อนปกคลุมด้วยขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลไหม้

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ พบขึ้นในป่าดิบชื้นรอยต่อระหว่างป่าบกกับป่าชายเลน บริเวณชายคลองและชายป่าพรุ หรือในพื้นที่ที่เป็นเลนแข็ง น้ำท่วมถึงเป็นครั้งคราว พบการกระจายพันธุ์ในภาคใต้ของประเทศไทย และมาเลเซีย (เฉพาะบนคาบสมุทร) สำหรับการจำแนกหมวดหมู่ใน IUCN Red List นั้น อยู่ในสถานภาพมีความเสี่ยงน้อย (LC)

ใบ เดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังรูปขอบขนาน ขนาด 4-7×7-20 เซนติเมตร โคนใบมนถึงกลม ขอบใบเรียบ ปลายใบสอบเป็นติ่งทู่ เส้นกลางใบยุบตัว มีเส้นแขนง 6-12 คู่ แต่ละเส้นมักคดงอ เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแห มองเห็นไม่ชัดเจน ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้านหรือด้านล่างเกือบเกลี้ยง ใบอ่อนมีขนสั้นนุ่ม ด้านบนสีเขียวคล้ำ ด้านล่างสีซีดกว่า ก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร มีขนประปราย

ดอก ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ดอกเพศผู้เป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ออกที่ง่ามใบ ช่อละ 3–4 ดอก ดอกย่อยสีขาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 0.2 เซนติเมตร มีขนสั้นหนานุ่ม กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 4-5 กลีบ กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยปากกว้าง ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๆ ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน กลีบดอกยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังหรือรูปทรงไข่ ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๆ เกสรเพศผู้ 20-21 อัน ดอกเพศเมียมักออกเป็นดอกเดียว ลักษณะทั่วไปคล้ายดอกเพศผู้ แต่มีขนาดใหญ่กว่า และกลีบเลี้ยงมีขนแบบขนแกะปกคลุมทั้งสองด้าน ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม

ผล แบบผลมีเนื้อหลายเมล็ด รูปทรงไข่ถึงกลม ขนาด 3-3.5×3-5 เซนติเมตร ผลแก่นุ่มฉ่ำน้ำ มีขนและเกล็ดละเอียดสีน้ำตาลแดงปกคลุม หลุดร่วงง่าย กลีบจุกผลขอบหยักลึกเกือบไม่ติดกัน แต่ละกลีบมักพับกลับขอบกลีบเป็นคลื่น พื้นกลีบพับย่น ไม่มีลายเส้นกลีบ ก้านผลยาว 1 เซนติเมตร มี 8 เมล็ด ผลแก่ระหว่างเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์

19. โคลงเคลง

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Melastoma malabathricum L.
วงศ์ : MELASTOMATACEAE
ชื่ออื่น : กะดูดุ (มลายู-ปัตตานี); กาดูโด๊ะ (มลายู-สตูล, ปัตตานี); โคลงเคลงขี้นก, โคลงเคลงขี้หมา(ตราด); ซิซะโพะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); ตะลาเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); เบร์, มะเหร,มังเคร่, มังเร้, สาเร, สำเร (ภาคใต้); มายะ (ชอง-ตราด); อ้า, อ้าหลวง (ภาคเหนือ)

ลักษณะทั่วไป โคลงเคลงเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ประเภท ไม้ดอกล้มลุกในวงศ์ โคลงเคลง (Melastomataceae) ลักษณะกิ่งสี่เหลี่ยมมักมีขนปกคลุม

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ เป็นพืชพื้นเมืองในบริเวณชีวภูมิภาค อินโดมาลายา ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย พบได้ทั่วไปในทุ่งหญ้าและป่าโปร่ง ที่ความสูงระหว่าง 100-2,800 เมตร

ใบ เดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ และสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบและโคนใบแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 1.7-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-14 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างแข็ง ผิวใบมีเกล็ดเล็กแหลม มีเส้นใบออกจากโคนใบไปจรดกันที่ปลายใบ ประมาณ 3-5 เส้น ส่วนเส้นใบย่อยเรียงแบบขั้นบันไดและไม่มีหูใบ

ดอก ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อละประมาณ 3-5 ดอก ดอกเมื่อบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีม่วงอมสีชมพู โดยทั่วไปดอกจะมีกลีบดอก 5 กลีบ หรือมีกลีบ 4 กลีบ หรือ 6 กลีบก็มี ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ มีถ้วยรองดอกปกคลุมด้วยเกล็ดแบนเรียบ ดอกเป็นช่อแบบสมบูรณ์เพศ ดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลือง 10 ก้าน เรียงเป็นวง 2 วง และมีรยางค์สีม่วงโค้งงอ ส่วนรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีมากในช่วงฤดูฝน

ผล ผลมีลักษณะคล้ายลูกข่าง มีขนาดกว้างประมาณ 0.6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร และมีขนปกคลุม เนื้อในผลเป็นสีแดงอมสีม่วง ผลเมื่อแก่เปลือกผลจะแห้งแล้วแตกออกตามขวาง ผลมีความยาวประมาณ 0.5-1.2 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก หรือผลมีเนื้อนุ่มอยู่หลายเมล็ด


บรรณานุกรม

 

กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน. 2563. พันธุ์ไม้ป่าชายเลน. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, กรุงเทพฯ.

ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.

ระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. ชนิดพันธุ์ไม้ป่าชายเลน. ค้นเมื่อ
4 สิงหาคม 2564, จาก https://km.dmcr.go.th/th/c_11/d_3072