ข้อมูลศูนย์เรียนรู้
ศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติวิทยาพืชและสัตว์ทะเลฝั่งอันดามัน จังหวัดภูเก็ต ตั้งอยู่บริเวณปลายสุดแหลมพันวา ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดภูเก็ต เมื่อเข้ามาภายในศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ให้ขับตรงไปจนสุดทางจนถึงอาคารพิพิธภัณฑ์สัตว์และพืชทะเล (Reference Collection) อาคารศูนย์เรียนรู้ฯ อยู่ด้านหน้าและอยู่ที่เดียวกัน ศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความหลากหมายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ทะเลในท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการประชาสัมพันธ์โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ) ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป
ศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติวิทยาพืชและสัตว์ทะเลฝั่งอันดามัน จังหวัดภูเก็ต อยู่อาคารเดียวกับพิพิธภัณฑ์สัตว์และพืชทะเล ซึ่งหากต้องการเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฯ ต้องทำหนังสือเข้าเยี่ยมชมล่วงหน้า ส่วนศูนย์เรียนรู้ฯเป็นห้องจัดแสดงกระจกที่ติดสติ๊กเกอร์ในธีมแนวปะการัง สามารถเข้าเยี่ยมชมได้เลย (แต่หากต้องการวิทยากรนำชม ต้องทำหนังสือแจ้งเพื่อจองคิว)
ประวัติ
ศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติวิทยาพืชและสัตว์ทะเล ท้องถิ่น ตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อจัดแสดงความหลากหลายทางทะเลและชายฝั่งบริเวณพื้นที่จังหวัด 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร ระยอง ชุมพร สงขลา และภูเก็ต และเพื่อแสดงผลสำเร็จของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ นอกจากนี้ ศูนย์เรียนรู้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในอนาคต จะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ดังนั้นการรวบรวมตัวอย่างทางวิชาการของสิ่งมีชีวิตในทะเลและชายฝั่งทะเลของน่านน้ำในประเทศไทยของแต่ละชุมชน จะช่วยนักวิจัย นักเรียน นักศึกษา ในการจำแนกชนิดตัวอย่างโดยการเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่ได้วิเคราะห์ชนิดเสร็จเรียบร้อยการจัดแสดงนิทรรศการ (Exhibition) พืชและสัตว์ทะเล จึงมีบทบาทที่สำคัญต่อการให้บริการด้านความรู้และความเข้าใจในด้านความหลากหลายทางชีวภาพในรูปแบบการจัดนิทรรศการ
การจัดแสดง / สิ่งที่น่าสนใจ
ด้านในห้องจัดแสดง มีการจัดแสดงตัวอย่างหญ้าทะเล การแสดงถึงความเชื่อมโยงของระบบนิเวศหญ้าทะเลที่เป็นรอยต่อระหว่างระบบนิเวศป่าชายเลน และระบบนิเวศแนวปะการัง มีการจัดแสดงสัตว์ขามีปล้องที่อาศัยในทะเล เช่น ปูจั๊กจั่น และปูม้า เป็นต้น
ถัดมาเป็นการจัดแสดงกลุ่มที่มีกระดูกสันหลังจำพวกปลา งูทะเล สัตว์เลื้อยคลาน ในตู้จัดแสดงประกอบไปด้วย กลุ่มปลาฉลาม ปลากระเบนชนิดต่างๆ ปลาที่สามารถพบได้ในแนวปะการัง ปลาเศรษฐกิจในเขตทะเลชายฝั่งอันดามัน เช่น ฉลามกบ Chiloscyllium indicum (Gmelin, 1789) ปลาปักเป้าหนาทุเรียน Diodon hystrix Linnaeus, 1758 และ ปลาสินสมุทรลายน้ำเงิน Pomacanthus annularis (Bloch, 1787) เป็นต้น
การจัดแสดงงูทะเล โดยงูทะเลทุกชนิดอาศัยอยู่ในทะเลหรือปากแม่น้ำชายฝั่งหมด บางชนิดมีเกล็ดเป็นมัน บางชนิดมีเกล็ดฝังอยู่ใต้ผิวหนัง ลำตัว ลื่นคล้ายปลา หางมีรูปร่างแบน คล้ายใบพายเพื่อประโยชน์ในการว่ายน้ำซึ่งต่างจากงูบกที่ปลายหางกลม กินปลาเป็นอาหารหลัก งูทะเลส่วนใหญ่เป็นงูพิษ พิษของงูทะเลเป็นพิษที่ทำลายระบบกล้ามเนื้อ โดยจะออกฤทธิ์เมื่อถูกกัดไปแล้วนานถึงครึ่งชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมง จึงมักมีผู้ถูกงูทะเลกัดเสียชีวิตบ่อยๆ โดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างงูทะเลที่จัดแสดงภายในศูนย์เรียนรู้ฯ ที่พบทางฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ งูปากกว้างน้ำเค็มCerberus rynchops (Schneider, 1799) และ งูอ้ายงั่ว Hydrophis hardwickii (Gray, 1834)
การจัดแสดงสิ่งมีชีวิตที่มีลำตัวอ่อนนุ่ม (กลุ่มหอยฝาเดียว หอยสองฝา หมึก ลิ่นทะเล) มีโครงร่างแข็งภายนอก (เปลือก) ยกเว้นกลุ่มหมึกบางชนิด พบกระจายได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและในน้ำ บางชนิดนิยมใช้เป็นอาหาร มีการจัดแสดงหมึกราหู Thysanoteuthis rhombus Troschel, 1857 หมึกกระดองลายเสือ Sepia pharaonis Ehrenberg, 1831 หมึกสายวงฟ้า Hapalochlaena maculosa (Hoyle, 1883) ซึ่งเป็นหมึกที่มีพิษร้ายแรง นอกจากนี้อย่าลืมชมหอยเต้าปูน ชนิด Conus rawaiensis da Motta, 1978 ที่ค้นพบครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
การจัดแสดงสัตว์ในไฟลัมไนดาเรีย สิ่งมีชีวิตที่มีเซลล์เข็มพิษ ได้แก่ ปะการัง สามารถแบ่งปะการังออกเป็น 7 รูปแบบ ตามลักษณะภายนอก ได้แก่ ปะการังกิ่ง ปะการังกึ่งก้อน ปะการังกลีบซ้อน ปะการังก้อน ปะการังเคลือบ ปะการังแผ่น และปะการังเห็ด
สัตว์อีกชนิดที่อยู่ในไฟลัมไนดาเรีย คือแมงกะพรุน สัตว์กลุ่มนี้มีเนื้อเยื่อ 2 ชั้น ลักษณะคล้ายวุ้น ลำตัวกลวง-โพรง ส่วนใหญ่จะอาศัยในทะเล มีบางชนิดอาศัยในน้ำจืด มีเซลล์พิษที่ใช้ในการป้องกันตัวและจับอาหาร บางชนิดใช้เป็นอาหาร เช่น แมงกะพรุนหนัง ที่จัดแสดงเป็นตัวแทนของกลุ่มนี้ มี 3 ชนิด คือ แมงกะพรุนกล่องชนิด Chiropsoides buitendijki (van der Horst, 1907) แมงกะพรุนหมวกรบโปรตุเกส Physalia physalis (Linnaeus, 1758) และแมงกะพรุนไฟ Chrysaora chinensis Vanhöffen, 1888 ทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นแมงกะพรุนที่สามารถพบเจอได้ในบริเวณของจังหวัดภูเก็ต การปฐมพยาบาลเบื้องต้น แนะนำให้ราดด้วยน้ำส้มสายชู บริเวณที่สัมผัส ต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 30 วินาที จากนั้นโทรขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์ 1669
แนวทางการจัดแสดง / การเข้าชม
ในพื้นที่เดียวกันมีสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต (Phuket Aquarium) ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร (Sireetarn marine endangered animal rescue center) เส้นทางศึกษาธรรมชาติ โรงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และท่าเรือแหลมพันวา
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน
เลขที่ 51 หมู่ 8 ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต รหัสไปรษณีย์ 83000
โทรศัพท์ : 0 7639 1128
โทรสาร : 0 7639 1051
เว็บไซต์ : https://dmcrth.dmcr.go.th/pmbc
อีเมล : pmbc@dmcr.mail.go.th
วันและเวลาทำการ
วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 09.00 – 16.00 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ)
ค่าเข้าชม
ไม่มีค่าใช้จ่าย
การเดินทาง / แผนที่
พิกัด : ละติจูด (Lat) ที่ 7.800705 ลองติจูด (Long) ที่ 98.408757
Google Map : https://goo.gl/maps/XNJBErT1n2q9WgR89
การรับจองล่วงหน้า
กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการวิทยากรนำชมจะต้องทำหนังสือก่อนเข้าเยี่ยมชม
สิ่งอำนวยความสะดวก
ห้องน้ำ
พื้นที่สำหรับจอดรถ