จากการพัฒนาของประเทศในด้านต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เช่น การทำการประมง อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การพัฒนาแหล่งชุมชนและอื่นๆ ทำให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมาก ก่อให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการใช้ที่ดินชายฝั่งทะเลมาก จนเกิดความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ และมีการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอย่างรุนแรง พื้นที่ป่าชายเลน ลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการบุกรุกและเปลี่ยนแปลงสภาพเพื่อประโยชน์ในด้านอื่นๆ แหล่งปะการังและหญ้าทะเล อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเช่นกัน ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ลดลงอย่างมาก ประกอบกับสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำเสื่อมโทรม ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต และขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ
ตระหนักว่าการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอดีตที่ผ่านมา ยังไม่มีเอกภาพ ขาดการบูรณาการ และไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง หรือมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ จึงได้มีการปฏิรูประบบราชการและมีพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนด ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรวมทั้งการจัดการใช้ ประโยชน์อย่างยั่งยืน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้า 14 เล่ม 119 ตอนที่ 99 ก เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2545 หมวด 9 มาตรา 22 และ 23 จัดตั้งหน่วยงานภายใต้กระทรวงอีก 10 หน่วยงาน โดยมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) อยู่ในลำดับที่ 4 เป็นการรวมงานที่เกี่ยวข้องในด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จากกรมประมง กรมป่าไม้ และกรมพัฒนาที่ดิน ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาอยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีภารกิจในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะพื้นที่ดินชายทะเล ป่าชายเลน แนวปะการัง หญ้าทะเล และสัตว์ทะเล ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสมดุลและเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน