เป็นที่ทราบกันดีว่า…พื้นที่บริเวณชายฝั่งอ่าวไทย เป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งตั้งอยู่อย่างหนาแน่นและมีจำนวนมาก ผลกระทบที่เกิดตามมาอย่างหนึ่ง คือก่อให้เกิดน้ำเสีย และมลสารต่างๆ ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำ และ “อ่าวไทย” ในที่สุด
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีการศึกษาทางสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลุ่มสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ได้ดำเนินการศึกษา วิจัย วิเคราะห์ และติดตามสภาวะความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ซึ่งได้รับผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เราศึกษาอะไรที่อ่าวไทย???
จากการลงพื้นที่ของทีมนักวิจัยกลุ่มสมุทรศาสตร์ฯ มักจะมีชาวประมงหรือคนที่ผ่านไปมาให้ความสนใจและเข้ามาพูดคุย ซักถามว่าพวกเรามาทำอะไรกัน หอบหิ้วเครื่องมือหลายอย่าง แต่ละอย่างไว้ทำอะไร พวกเราก็บอกว่ามาตรวจวัดคุณภาพน้ำ และเก็บน้ำไปศึกษาต่อในห้องปฏิบัติการ หรือห้องแล็ปที่ชาวประมงพอจะคุ้นหูนั่นเอง วันนี้พวกเราจึงอยากจะมาเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายสักเล็กน้อย พวกเราขอเรียกภารกิจนี้ว่า ส่อง “อ่าวไทย”
พวกเราทีมนักวิจัยกลุ่มสมุทรศาสตร์ได้ทำการลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลบริเวณชายฝั่งตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทราและชลบุรี โดยเรือชาวประมงที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามชายฝั่งและลําคลอง เพื่อออกไปเก็บตัวอย่าง สิ่งที่เราทําการศึกษา มีดังนี้
วัดคุณภาพน้ำพื้นฐาน
วิเคราะห์ปริมาณสารอาหาร
น้ำตัวอย่างที่เก็บได้ เราจะนำมากรองด้วยกระดาษ Glass Microfiber Filters ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 47 มิลลิเมตร เก็บในขวดพลาสติก แช่ตู้เย็นที่ -20 oC เพื่อรอการวิเคราะห์ต่อไป โดยปัจจัยที่ทำการศึกษาได้แก่ ไนไตรท์ ไนเตรท แอมโมเนีย และฟอสเฟต ส่วนน้ำที่รักษาสภาพที่อุณหภูมิ 4 oC จะนำไปวิเคราะห์ปริมาณซิลิเกต ในห้องปฏิบัติการโดยตรวจวัดด้วยเครื่อง Spectrophotometer
วิเคราะห์ปริมาณแบคทีเรีย
เราทําการเก็บตัวอย่างน้ำที่จะนํามาวิเคราะห์หาปริมาณแบคทีเรียด้วยขวดที่ปลอดเชื้อ และเก็บรักษาสภาพตัวอย่างที่อุณหภูมิ 4◦C (แช่ถังน้ำแข็ง) ก่อนนํามาวิเคราะห์หาปริมาณการปนเปื้อนแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด และฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ในห้องปฏิบัติการต่อไป
ศึกษาการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี
เก็บตัวอย่างแพลงก์ตอนพืชในน้ำทะเลโดยกรองด้วยถุงกรองขนาดช่องตา 20 ไมครอน รักษาสภาพตัวอย่างด้วยฟอร์มาลีน 4 เปอร์เซ็น จากนั้นนำไปจำแนกชนิดและตรวจนับความหนาแน่นภายใต้กล้องจุลทรรศน์
ผลที่ได้จากการวิเคราะห์ จะนำไปเทียบกับมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลของสำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ (2549) และเก็บเป็นฐานข้อมูลสำหรับการกำหนดแนวทางการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
http://marinegiscenter.dmcr.go.th/km/upper-gulf-of-thailand-2/#.V_XDm4997IU
กรมควบคุมมลพิษ. 2549. มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล สำนักจัดการคุณภาพน้ำ, กรมควบคุมมลพิษ .7 หน้า