วันที่ 12-14 พฤษภาคม 2564 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล
และชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก (ศวบต.)
สำรวจสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์บริเวณอ่าวไทยตอนบน
ฝั่งตะวันตก พบสัตว์ทะเลหายาก 3 ชนิด คือ
1. วาฬบรูด้า (Bryde’s Whale : Balaenoptera edeni)
พบจำนวน 5 ตัว บริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดสมุทรสาคร
ระยะห่างฝั่ง 12-20 กิโลเมตร เป็นคู่แม่ลูก 2 คู่ และตัวเดี่ยว 1 ตัว
จากการตรวจสอบอัตลักษณ์ (Photo ID) สามารถระบุชื่อได้ คือ
แม่สาครกับลูกตัวใหม่ แม่ท่องสมุทรกับลูกตัวใหม่ และเจ้าสุขใจ
และยังได้รับแจ้งจากเรือประมงในพื้นที่พบวาฬบรูด้าเข้ามาหากิน
นอกชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดสมุทรปราการ อีกด้วย
2. โลมาหัวบาตรหลังเรียบ (Finless porpoise :
Neophocaena phocaenoides) พบจำนวน 2 ตัว
พบบริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดสมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร
ในระยะห่างฝั่ง 17-18 กิโลเมตร
3. โลมาอิรวดี (Irrawaddy dolphin: Orcaella brevirostris) พบประมาณ 30 ตัว บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร ระยะห่างฝั่ง 4-6 กิโลเมตร
สัตวแพทย์ทำการตรวจสุขภาพวาฬบรูด้าทั้งสิ้นจำนวน 3 ตัว ได้แก่
แม่สาครกับลูกตัวใหม่ และเจ้าสุขใจ มีอัตราการหายใจและคุณภาพการหายใจปกติ
แม่สาครมีความสมบูรณ์ของร่างกาย (body condition score) ต่ำ
เนื่องจากอยู่ในระยะให้นมลูก และพบรอยโรค Tattoo skin disease (TSD) บนผิวหนัง ส่วนลูกแม่สาคร และเจ้าสุขใจ มีความสมบูรณ์ร่างกายอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่พบรอยโรคบนผิวหนัง ซึ่งนายสัตวแพทย์จะติดตามสุขภาพของวาฬบรูด้าในอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตกต่อไป