วันที่ 1-4 มิถุนายน 2564 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล
และชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก (ศวบต.) สำรวจสัตว์ทะเลหายาก
และใกล้สูญพันธุ์บริเวณจังหวัดสมุทรสาคร พบสัตว์ทะเลหายาก 3 ชนิด คือ
1. วาฬบรูด้า (Bryde’s Whale : Balaenoptera edeni)
พบนอกชายฝั่งในระยะ 22 กิโลเมตร เป็นคู่แม่ลูก 1 คู่ ได้แก่ แม่สดใสและเจ้าแสนดี
และได้รับแจ้งจากเรือประมงว่า พบวาฬบรูด้าเข้ามาหากินบริเวณ
นอกชายฝั่งจังหวัดสมุทรปราการในช่วงเวลาสำรวจนี้
2. โลมาหัวบาตรหลังเรียบ (Finless porpoise : Neophocaena phocaenoides)
พบจำนวน 10 ตัว ในระยะห่างฝั่ง 12 กิโลเมตร
3. โลมาอิรวดี (Irrawaddy dolphin: Orcaella brevirostris) พบประมาณ 25 ตัว
แพร่กระจายบริเวณฝั่งตะวันออกของปากแม่น้ำท่าจีน ระยะห่างฝั่ง 2-12 กิโลเมตร
สัตวแพทย์ทำการตรวจสุขภาพวาฬบรูด้า ได้แก่ แม่สดใสและเจ้าแสนดี
ทั้งคู่มีอัตราการหายใจและคุณภาพการหายใจปกติ แม่สดใส
มีความสมบูรณ์ของร่างกาย (body condition score) ต่ำ
เนื่องจากอยู่ในระยะให้นมลูก และพบรอยโรค Tattoo skin disease (TSD) บนผิวหนัง
ส่วนเจ้าแสนดี มีความสมบูรณ์ร่างกายอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่พบรอยโรคบนผิวหนัง
ซึ่งนายสัตวแพทย์จะติดตามสุขภาพของวาฬบรูด้าในอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตกต่อไป