สถานการณ์คุณภาพน้ำทะเลอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก ปีงบประมาณ 2565
ในเดือนพฤษภาคม 2565
ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก
สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก ดำเนินการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก ครอบคลุมชายฝั่งทะเลจังหวัดสมุทรสาคร ถึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวนทั้งสิ้น 32 สถานี ปีละ 2 ครั้ง (ฤดูแล้งและฤดูฝน) ประกอบด้วย 12 ปัจจัย ได้แก่ อุณหภูมิน้ำ ความเค็ม ความเป็นกรด-ด่าง ความโปร่งแสง ตะกอนแขวนลอยในน้ำ ออกซิเจนละลายน้ำ ปริมาณสารอาหาร (ไนไตร์ท-ไนโตรเจน ไนเตรท-ไนโตรเจน แอมโมเนีย-ไนโตรเจน และฟอสเฟต-ฟอสฟอรัส) รวมทั้งคลอโรฟิลล์ เอ และแบคทีเรียโคลิฟอร์มทั้งหมดในน้ำ
ผลการติดตามตรวจสอบฯ ประจำปี 2565 ในฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม 2565) พบว่า สถานะคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก พื้นที่อ่าวไทยตอนใน โดยรวมมีสถานะคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งอยู่ในสถานะเสื่อมโทรม โดยพื้นที่ที่ควรมีการติดตามเฝ้าระวังเนื่องจากพบสถานะเสื่อมโทรมมาก ได้แก่ สถานีปากแม่น้ำท่าจีน สถานีชายฝั่งทะเลบ้านแหลม ปัจจัยที่ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมากนี้ มาจากปัจจัยออกซิเจนละลายน้ำที่ลดลง การปนเปื้อนของแบคทีเรียโคลิฟอร์มทั้งหมดในน้ำ และปริมาณสารอาหาร (แอมโมเนีย ฟอสเฟต) ส่วนสถานะคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีสถานะคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งอยู่ในสถานะดี รองลงมาอยู่ในสถานะพอใช้