ศึกษาการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำทะเลอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริเวณพื้นที่ อ่าวไทยตอนบน โดยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิในน้ำทะเลระยะยาว (Temperature data logger) ที่ทุ่นนำร่อง บริเวณชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี จำนวน 3 สถานี ที่ระดับความลึก 1 เมตรจากผิวหน้าน้ำทะเล และบริเวณแนวปะการังเกาะเหลื่อม และเกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 2 สถานี
- ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิน้ำทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบน จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2565-สิงหาคม 2566 พบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลที่ระดับความลึก 1 เมตรจากผิวหน้าน้ำทะเลมีค่าระหว่าง 24.030-35.162 องศาเซลเซียส และค่าเฉลี่ย±ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 29.830±2.0 องศาเซลเซียส
- ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิน้ำทะเลบริเวณแนวปะการัง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างเดือนตุลาคม 2565-มิถุนายน 2566 พบว่าอุณหภูมิน้ำทะเล มีค่าระหว่าง 25.029-31.832 องศาเซลเซียส และค่าเฉลี่ย±ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 28.551±1.4 องศาเซลเซียส จากข้อมูลพบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2566 และลดลงในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งสอดคล้องกับ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) Coral Reef Watch ที่ได้คาดการณ์ว่าในเดือนเมษายน-มิถุนายน 2566 มีแนวโน้มผลกระทบจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่อาจมีต่อการเกิดปะการังฟอกขาวในเกณฑ์เฝ้าระวังในพื้นที่อ่าวไทย แต่จากการสำรวจเบื้องต้นยังไม่พบผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งนี้ ศวทบ. จะดำเนินการติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำทะเลที่จะมีผลต่อทรัพยากรปะการังอย่างใกล้ชิด