วันที่ 4 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน (ศวทบ.) ขอรายงานผลการชันสูตรวาฬเพชฌฆาตดำ (False Killer Whale; Pseudorca crassidens) ที่ได้รับแจ้งจากตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร และสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 โดยส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 เรื่องพบวาฬมีฟันเกยตื้นมีชีวิต ณ ชายหาดค่ายนเรศวร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยเจ้าหน้าที่ ศวทบ.ตรวจสอบพบเป็นวาฬเพชฌฆาตดำ เพศเมีย โตเต็มวัย ความยาว 314 ซม. ความสมบูรณ์ของร่างกายต่ำ ผอม ขาดอาหาร และย้ายมาทำการรักษาฟื้นฟูสุขภาพ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี วาฬมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็วและเสียชีวิตในวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่ ศวทบ ทำการย้ายซากวาฬกลับมาชันสูตร ณ ศวทบ พบใต้ผิวหนังพบไขมันสะสมบางส่วนเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและมีฟองอากาศใต้ผิวหนังจำนวนมาก ระบบทางเดินหายใจ ส่วนต้นพบพยาธิใบไม้จำนวนมากในช่องหายใจ เนื้อเยื่อคอหอย (Goose beak) บวมน้ำอย่างรุนแรง หลอดลม อักเสบมีเลือดคั่ง ปอดอักเสบเรื้อรังและรุนแรง มีก้อนยกนูนกระจายทั่วปอด เยื่อหุ้มปอดหนาตัว ระบบหัวใจและหลอดเลือด เยี่อหุ้มหัวใจหนาตัว มีหลอดเลือดใหม่เข้ามาเลี้ยงจำนวนมาก ลิ้นหัวใจบวมน้ำรุนแรง ระบบทางเดินอาหาร พบแผลหลุมในช่องปากและหลอดอาหารจำนวนมาก ไม่พบอาหารในระบบทางเดิน พบพยาธิตัวแบนในลำไส้เล็ก ม้ามอักเสบ ระบบขับถ่ายปัสสาวะ ผนังกระเพาะปัสสาวะอักเสบหนาตัวบวมน้ำและมีหลอดเลือดใหม่มาเลี้ยง ปัสสาวะมีสีน้ำล้างเนื้อ ระบบสืบพันธุ์ เนื้อเยื่อบวมน้ำอักเสบแดงตั้งแต่ส่วนปากมดลูกไปจนถึงท่อนำไข่
สรุปสาเหตุการตายเกิดจากการป่วยติดเชื้ออย่างรุนแรง